รีเซต

นักวิจัยสหรัฐฯ รักษาผู้ป่วยหญิงจาก HIV จนหายขาดเป็นรายแรกของโลก

นักวิจัยสหรัฐฯ รักษาผู้ป่วยหญิงจาก HIV จนหายขาดเป็นรายแรกของโลก
TNN ช่อง16
16 กุมภาพันธ์ 2565 ( 18:21 )
178

ความพยายามในการต่อสู้กับโรคร้ายอย่าง HIV ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายในวงการแพทย์ ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาวิธีการรักษามากมายที่สามารถ "กำจัด" เชื้อไวรัสนี้ให้หมดไปจากร่างกายผู้ป่วย ล่าสุดมีรายงานผู้ป่วยหญิงรายแรกที่ถูกระบุว่าหายป่วยจาก HIV และกลายเป็นรายที่ 3 ของโลกที่หายขาดจากโรคนี้อีกด้วย




ผู้ป่วยหญิงรายนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV เมื่อปี พ.ศ. 2557 และป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย - Leukemia) เมื่อปี พ.ศ. 2560 เธอได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการทดลองของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจลิส (UCLA) และมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ เพื่อเข้ารับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยมีเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว


เดิมการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มักจะใช้สเต็มเซลล์จากไขกระดูกของผู้ใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจความเข้ากันได้กับร่างกายของผู้ป่วยอย่างครบถ้วน ในขณะที่ผู้ป่วยหญิงรายนี้ (รู้จักกันในชื่อ New York Patient) ถูกปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากเลือดสายสะดือจากทารกรายหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีคือสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือจะมีความเข้ากันได้กับร่างกายของบุคคลอื่นได้มากกว่า และไม่จำเป็นต้องจับคู่ความเข้ากันได้อย่างครบถ้วน (เข้ากันได้เพียงครึ่งเดียวก็สามารถนำมาปลูกถ่ายได้) ดังนั้น มันจึงช่วยลดการถูกทำลายของสเต็มเซลล์ได้ดีขึ้น

HIV (Retrovirus) ในการเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดขาว
ที่มาของภาพ Genome

 


หลังจากที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แล้ว นักวิจัยคาดว่าสเต็มเซลล์ที่เจริญเติบโตเกิดการกลายพันธุ์ ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวที่ผลิตออกมาไม่มีตัวรับที่เหมาะสมสำหรับไวรัส HIV บนผิวเซลล์ ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถเข้าไปเพิ่มจำนวนหรือฝังรากลึกในเม็ดเลือดขาวได้อีก


เมื่อติดตามผลเลือดเรื่อย ๆ พบว่าร่างกายผู้ป่วยหญิงรายนี้ปราศจากไวรัสมานานถึง 14 เดือนแล้ว เธอสามารถหยุดใช้ยาต้านไวรัส HIV ได้ และในที่สุดเธอจึงกลายเป็นผู้หญิงรายแรกที่หายป่วยจากโรคติดเชื้อ HIV และกลายเป็นผู้ป่วยรายที่ 3 ของโรคที่หายป่วยจากโรคนี้

ที่มาของภาพ Reuters

 


ผลการทดลองในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วย 2 รายที่หายป่วยจากการติดเชื้อ HIV เป็นผู้ป่วยชายทั้งคู่ นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีผลการศึกษาในมนุษย์เพศหญิงเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เชื่อว่าในอนาคตอาจมีการประยุกต์วิธีการดังกล่าวไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย HIV ให้หายขาดก็เป็นได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง