รีเซต

โควิด ธุรกิจสื่อสาร และประชาชน

โควิด ธุรกิจสื่อสาร และประชาชน
TrueID
12 มิถุนายน 2563 ( 12:56 )
466

 

ทันทีที่ กสทช. ได้ออกประกาศขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมและการนำส่งเงินรายปีของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ทางสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยก็ได้เรียกร้องให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและลดค่าธรรมเนียมประจำปี รวมถึงเงินนำส่งรายปีด้วย ต่อมาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ก็ได้เรียกร้องให้ กสทช. คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางด้วย เนื่องจากเงินที่ กสทช. ได้รับ เมื่อหักภาระค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลแล้ว ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลจะได้นำไปใช้เยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน การจะพิจารณาลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม จึงต้องคำนึงถึงลำดับความสำคัญและความจำเป็นของทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ประกอบการเท่านั้น และขอให้เปิดเผยข้อมูลประกอบการพิจารณา และผลการพิจารณาที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับประโยชน์ พร้อมทั้งแสดงประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศจะได้รับอย่างชัดเจน

 

เรื่องการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมนั้น สำนักงาน กสทช. ได้รายงานที่มาที่ไปว่า มีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายต้องการขอเลื่อนการชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ออกไป โดยอ้างสถานการณ์โรคระบาด แต่ไม่มีกฎหมายให้กระทำได้ สำนักงาน กสทช. จึงเสนอให้เป็นการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมแทน โดยคำนวณจากพื้นฐานว่า เมื่อขยายระยะเวลาแล้ว สำนักงาน กสทช. มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะบริหารหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาข้อมูลผลกระทบทางธุรกิจที่ชัดเจน และไม่มีข้อมูลว่าเมื่อขยายระยะเวลาแล้ว ผู้ประกอบการรายใดจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด และประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

 

ในช่วงแรกที่สำนักงานฯ นำเสนอเรื่องนี้ ได้รับการทักท้วงว่า กสทช. มีอำนาจขยายระยะเวลาหรือไม่ สำนักงานฯ จึงได้ขอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงระเบียบการบริหารงานภายในของสำนักงานฯ พิจารณาฐานอำนาจทางกฎหมายในการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งได้รับความเห็นตอบกลับมาว่า ประกาศในปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้ และหากจะขยายระยะเวลาจริง ผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการมิใช่ประชาชนทั่วไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดนโยบาย อีกทั้งค่าธรรมเนียมที่จะชำระนั้น เป็นรายได้ของปีก่อนหน้า มิใช่ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดแต่อย่างใด จึงเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงนอกจากเรื่องฐานอำนาจตามกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ค่าธรรมเนียมเหล่านี้เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำนักงานฯ แล้ว ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน การขยายระยะเวลาจึงเป็นกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินการคลังและการงบประมาณโดยรวมของรัฐได้

 

สำนักงานฯ ก็มีการคำนวณแล้วว่า หากขยายระยะเวลาออกไปจะส่งผลต่อดอกเบี้ยที่จะได้รับ ทำให้ประโยชน์ที่รัฐจะได้รับลดลง แต่ก็เดินหน้าเสนอให้มีการออกประกาศฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มฐานอำนาจทางกฎหมายในการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม และได้เสนอว่าการออกประกาศใหม่นี้ ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันในการประกอบกิจการหรือมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

 

เมื่อลำดับความแล้ว จะเข้าใจได้ว่า ทำไมทั้งสมาคมผู้ประกอบการและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจึงมีหนังสือถึง กสทช. เพราะการกำหนดมาตรการเหล่านี้ คำนึงจากประมาณการกระแสเงินสดของสำนักงาน กสทช. เป็นหลัก มากกว่าคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรม และขาดการคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ จึงไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ สำนักงานฯ ถึงกับยืนยันว่าการขยายระยะเวลาชำระเงินไม่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความรวมถึงผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ เสมือนมีเจตนาในการมองข้ามผลประโยชน์ของประชาชนในสถานการณ์โรคระบาด

 

การขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบกิจการจึงเป็นการกำหนดโดยปราศจากข้อมูลผลกระทบจริง และอาจไม่ตอบสนองปัญหาของอุตสาหกรรมและประโยชน์ของประเทศและประชาชนได้จริง

 

และการกำหนดให้มีการชำระเงินในสัดส่วนที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบการที่มีรายได้เกินหนึ่งพันล้านกับผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่ำกว่านั้น เป็นมิติที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันในการประกอบกิจการอย่างชัดเจน การไม่จัดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะจึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจส่งผลให้มีการฟ้องคดีปกครองเพื่อเพิกถอนประกาศที่ออกโดยไม่ผ่านขั้นตอนที่ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติในอนาคตได้

 

ในส่วนผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการสื่อสารนั้น ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในสายตาของประชาชนยังเชื่อมั่นว่า การใช้งานการสื่อสารโทรคมนาคมจะเติบโตภายใต้ข้อจำกัดการเว้นระยะห่างทางสังคม และผู้ประกอบการมือถือต่างก็แถลงตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสแรกที่สวยหรู หากจะมีตัวเลขขาดทุนก็เกิดจากการชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ มิใช่จากผลประกอบการที่ย่ำแย่

 

และเมื่อมองมาตรการดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์โรคระบาด กลับพบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างยืนยันไม่ลดค่าบริการ แต่เลือกที่จะดำเนินการใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB ที่ได้รับผลตอบแทนเลขหมายละ 100 บาทจาก กสทช. และอีกส่วนคือการเพิ่มระยะเวลาโทรฟรี 100 นาที

 

สิ่งที่ปรากฏตามมาคือ โครงการแรกมีการเชิญชวนผ่าน SMS จนวันสุดท้ายที่ให้กดใช้สิทธิ และมีระยะเวลาในการสมัคร 20 วัน แต่การโทรฟรีกลับไม่มี SMS แจ้งย้ำเตือน และมีระยะเวลาการสมัครเพียง 15 วัน

 

แต่ทั้งสองโครงการมีจุดเหมือนกันก็คือ เป็นการเพิ่มปริมาณการจราจรในระบบโทรคมนาคม คล้ายกับการเปิดให้รถวิ่งฟรีบนทางด่วน ผลที่เกิดขึ้นก็คือความคับคั่งบนโครงข่าย ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง คือผู้ใช้งานที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ส่วนต้นทุนของผู้ประกอบการก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตรงกันข้าม ในส่วนโครงการแรกผู้ประกอบการจะได้รับเงินรวมหลักพันล้านบาท

 

เมื่อพิจารณาจากยอดผู้สมัครใช้บริการ โครงการเน็ตฟรี จำกัด 1 สิทธิต่อ 1 บัตรประชาชน มียอดผู้สมัคร 14.9 ล้านคน แต่โครงการโทรฟรี ซึ่ง 1 คนอาจมีหลายซิม สามารถรับสิทธิได้ทุกซิม มียอดผู้สมัคร 12.7 ล้านซิม ซึ่งเมื่อคิดเป็นจำนวนคนจริง ก็จะน้อยกว่านี้อย่างแน่นอน หลายคนอาจมองว่าเป็นเพราะคนนิยมโทรน้อยลง แต่จริงๆ แล้วประเด็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ การประชาสัมพันธ์ที่แตกต่างกันระหว่างสองโครงการเกิดจากแรงจูงใจด้านประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับหรือไม่ หากใช่ อาจสะท้อนถึงความจริงใจในการดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์โรคระบาดของค่ายมือถือ

 

สิ่งที่รัฐมุ่งหวังในการดูแลผู้ประกอบการ คือการมุ่งหวังว่าผลสุดท้ายประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน แต่หากผู้ประกอบการไม่ดูแลประชาชน แล้วรัฐจะใช้เหตุผลใดในการเกื้อหนุนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตดีและเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต ในขณะที่มีอีกหลายอุตสาหกรรมที่อยู่ในสภาวะเลือดตาแทบกระเด็นและจำเป็นต้องได้รับการดูแล

 

นอกจากนี้ เชื่อได้ว่า ในวิกฤตอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เราจะเห็นความพยายามเรียกร้องให้เลื่อนชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ โดยพยายามโยงไปกับวิกฤตเหล่านั้นจนได้ เพราะผู้เรียกร้องคำนึงประโยชน์ของตนเองเป็นตัวตั้ง พร้อมที่จะทุ่มประมูลเพื่อเอาชนะคู่แข่ง แต่ก็พร้อมจะเข้าหาศูนย์กลางอำนาจรัฐเพื่อที่จะไม่ต้องชำระหรือชำระค่าประมูลให้น้อยที่สุดหรือช้าที่สุดนั่นเอง

 

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา 

กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง