‘ธปท.’ คาดเศรษฐกิจไทยซึมยันไตรมาสแรกปี 64 มองเปิดรับต่างชาติแค่ 1,200 คนไร้ประโยชน์
‘ธปท.’ คาดเศรษฐกิจไทยซึมยันไตรมาสแรกปี 64 มองเปิดรับต่างชาติแค่ 1,200 คนไร้ประโยชน์
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะฟื้นตัวชัดเจนในไตรมาส 2/2564 เนื่องจากไตรมาส 2/2563 เศรษฐกิจหดตัวแรงทำให้ฐานเปรียบเทียบอยู่ในระดับต่ำ โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หากเทียบแบบรายไตรมาสต่อไตรมาส จะขยายตัวเป็นบวกได้ ในรูปแบบการฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังเป็นการขยายตัวที่ติดลบจากระดับต่ำ โดยคาดว่าจะขยายตัวแบบติดลบไปจนถึงไตรมาส 1/2564 และหากพบว่า มรการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศ จนทำให้เกิดการล็อกดาวน์ขึ้นอีกครั้ง จะทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ หรือ สเปเชียลทัวริสวีซ่า (เอสทีวี) ที่จะเปิดให้เข้ามาไม่เกิน 1,200 คนต่อเดือนนั้น ประเมินว่าจะไม่การส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากจำนวนเข้ามาค่อนข้างน้อย หากเทียบกับปกติที่มีต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยอยู่ที่ 3 ล้านคนต่อเดือน ทำให้มีการใช้จ่ายน้อย แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
นายดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2563 ประเมินว่าจะติดลบเฉลี่ย 8.5% ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากในไตรมาส 2/2563 ที่ติดลบ 12.2% โดยธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบอยู่ที่ 7.8% ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน สิงหาคม 2563 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ตามมูลค่าการส่งออกสินค้า ที่ยังหดตัวที่ระดับ 8.2% มูลค่าการนำเข้า หดตัว 19.1% การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลงจากเดือนที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับดีขึ้น แม้ยังอยู่ในระดับต่ำ และการบริโภคภาคเอกชน ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว ขณะที่ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ระดับ 100% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 หลังจากมีการใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นแต่ยังคงเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิเล็กน้อยจากด้านหนี้สิน
“ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การใช้เงินงบเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งประเมินว่าหากสามารถเร่งเบิกจ่ายได้เร็ว จะยิ่งช่วยเศรษฐกิจได้อีกมาก โดยยอมรับว่า การที่ยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งผลให้มีหลายโครงการที่ตอนนี้ต้องหยุดชะงักไป ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดว่า รัฐมนตรีคลังคนใหม่จะเป็นใคร และมาเข้ามาในช่วงใด เพราะจะมีผลกับการเข้ามาสานต่อนโยบายต่างๆ ให้มีความต่อเนื่องต่อไปโดยมองว่าขณะนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญคือ การสนับสนุนในประเทศ การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐเนื่องจากต้องยอมรับว่าการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอ และภาคต่างประเทศทั้งส่งออกและท่องเที่ยวอาจยังน้อยอยู่ซึ่งต้องติดตามผลว่า หลังจากเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาในรอบนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะต้องทำด้วยความระมัดระวัง หากไม่มีผลในเชิงลบ จะสามารถขยายจำนวนเพิ่มเติมออกไป และจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นใช้จ่ายกลับมาได้ และมาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าคนไทย จะเป็นปัจจัยบวกตัวหนึ่งให้กับเศรษฐกิจไทย” นายดอน กล่าว