รีเซต

เปิดตำนาน! วัดท่ามะเฟือง จากสำนักสงฆ์ สู่วัดเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ

เปิดตำนาน! วัดท่ามะเฟือง จากสำนักสงฆ์ สู่วัดเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ
TNN ช่อง16
30 ตุลาคม 2563 ( 20:18 )
1.6K

"วัดท่ามะเฟือง"...วัดขนาดเล็ก ที่ตั้งอยู่ในชุมชน พื้นที่หมู่ 3 ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จากเดิมทีไม่ค่อยมีประชาชนรู้จักวัดแห่งนี้มากนัก แต่หลังจากโลกออนไลน์ ได้มีการแชร์เรื่องราวของเจ้าอาวาสวัด ที่ท่านได้ออกมาร้องไห้กลางที่ประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้าน พร้อมกล่าวในลักษณะน้อยอก น้อยใจ ว่าทางวัดไม่มีญาติโยม หรือ เจ้าภาพ ที่จองเข้ามาเป็นเจ้าภาพกฐินปี 2563 หลังจากที่มีกฐินมาทุกปี ประกอบกับเจ้าอาวาสอาพาธจนไม่สามารถออกกิจนิมนต์ได้


นับจากวินาทีนั้น ด้วยแรงแห่งพลังโซเชียล บวกกับพลังแห่งจิตศรัทธา ของประชาชนจำนวนมากและต่างพร้อมอก พร้อมใจ โอนปัจจัยที่เป็นตัวเงินผ่านเลขบัญชีธนาคาร ที่ทางวัดได้ให้ไว้ โดยพบว่า ยอดเงินที่ประชาชนทั่วสารทิศทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของทางวัดท่ามะเฟือง ในทุกช่องทางและรวมกับยอดเงินที่มีประชาชนเดินทางมาทำบุญที่วัด โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา จนถึงเวลา 17.00 น.ของวันที่ 30 ต.ค. มียอดล่าสุดกว่า 32 ล้านบาท 

วัดท่ามะเฟือง จากเดิมเปรียบเหมือนเป็นวัดที่ถูกลืม แต่วันนี้ วัดท่ามะเฟือง ไม่ได้เป็นวัดที่ถูกลืมอีกต่อไป และได้มีประชาชนเรือนหมื่นหลั่งไหลมาร่วมบุญกฐิน ผ้าป่าสามัคคี ที่วัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา สมตามความปราถนาของ ท่านเจ้าอาวาสวัด


นายกิตติ โค้วถาวร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.อ่างทอง และเป็นประธานคณะกรรมหมู่บ้านท่ามะเฟือง เล่าย้อนตำนานให้ฟังว่า...."วัดท่ามะเฟือง"จัดตั้งเมื่อปี 2545 แต่เดิมเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเป็นที่ดินของส่วนบุคคล จากที่ก่อนหน้านั้นเมื่อประมาณ 60 ปี ราวๆปี 2503 ได้มีพระทางภาคใต้ ได้เดินทางมาถือศีลนั่งวิปัสสนากรรมฐาน และตั้งเป็นสำนักสงฆ์ท่ามะซาง ต่อมาเริ่มที่จะมีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาจำพรรษาเพิ่มขึ้น และได้เริ่มมีการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ พร้อมทั้งจัดลานปฏิบัติธรรมเรื่อยมา มีชาวบ้านเข้ามาปฏิบัติธรรมร่วมกับทางพระสงฆ์ จนกระทั่งพระภิกษุสงฆ์เริ่มหายไปจนกลายเป็นสำนักสงฆ์ร้าง ไม่มีพระภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่แม้แต่รูปเดียว 

นายกิตติ เล่าต่อว่า จากนั้นผ่านมาหลายปีเริ่มจะมีพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาจำพรรษาอยู่ภายในสำนักสงฆ์เพื่อฝึกปฏิบัติสมาธินั่งกรรมฐาน และเริ่มมีพระมาจำพรรษามากขึ้น ชาวบ้านได้เข้ามาปลูกต้นไม้ เพื่อหวังว่าจะให้เกิดความร่มรื่น นักฝึกจิตสมาธิปฏิบัติธรรมฐาน จนทำให้ในปี 2545 สำนักสงฆ์ ท่ามะซาง ได้ตั้งเป็นวัดท่ามะเฟือง และยังคงเน้นในเรื่องการปฏิบัติธรรมตามเดิม พร้อมทั้งมีการก่อสร้างหอระฆัง อุโบสถหลังเล็กที่สร้างด้วยไม้ (ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ หอระฆัง และ ลูกนิมิต 2 ลูก เสมา 2 ชิ้น และยังพบร่องรอยของสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทับ) และมีสภาพเสื่อมโทรมตามกาลเวลาและไม่สามารถใช้งานได้ จนพังทลายในที่สุด จึงทำให้วัดท่ามะเฟือง ไม่มีอุโบสถ์มาจนถึงปัจจุบัน และมี พระครูสังฆรักษ์ ประพันธ์ ญาณภทฺโท วัย 65 ปี เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน และเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ที่มาอยู่ภายในวัด


พระครูสังฆรักษ์ เจ้าอาวาสวัด นับว่าเป็นพระที่ถือการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด เวลานั่ง และ เวลาเดินจงกลม หลวงพ่อจะดุ ตรงไปตรงมา ต่อมาเจ้าอาวาส ได้ล้มป่วยด้วยโรคประสาท โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคเบาหวาน เดินไม่ได้

นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิประจำวัดคือ เจ้าพ่อเสี้ยววัด หรือ “เจ้าพ่อสัจจะยงค์” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลวัด และชาวบ้านมาอย่างช้านานจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานประจำปี หรือ งานพิธีต่าง ชาวบ้านจะมาจุดธูปบอกกล่าวกันทุกครั้ง พร้อมทั้งมาเขย่าติ้วเสี่ยงดวง

วันนี้วัดท่ามะเฟือง....ได้กลายเป็นวัดที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผลบุญของ พระครูสังฆรักษ์ ประพันธ์ ญาณภทฺโท เจ้าอาวาสวัดท่ามะเฟือง ที่ท่านได้สั่งสมมา ประกอบกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ที่แห่งนั้น 

จนทำให้กระแสบุญจากทั่วสารทิศหลั่งไหลแบบไม่ขาดสาย......!!!




ข่าวที่เกี่ยวข้อง