รีเซต

10 มิถุนายน 2018 รถหุ่นยนต์สำรวจ Opportunity ส่งข้อความสุดท้ายจากดาวอังคารกลับมายังโลก

10 มิถุนายน 2018 รถหุ่นยนต์สำรวจ Opportunity ส่งข้อความสุดท้ายจากดาวอังคารกลับมายังโลก
TNN ช่อง16
10 มิถุนายน 2566 ( 23:51 )
72

วันนี้เมื่อ 5 ปีก่อน รถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) ส่งข้อความกลับมายังศูนย์ควบคุมภารกิจ (Mission Contral) ภายในห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) เกี่ยวกับพายุฝุ่นขนาดใหญ่บนดาวอังคารกำลังพัดมายังพื้นที่สำรวจของยานบริเวณหลุมอุกกาบาตเอนดีเวอร์ เครเตอร์ (Endeavour Crater) และเพื่อรับมือกับพายุ รถหุ่นยนต์สำรวจจึงเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดจำศีล (Safe Mode) ปิดระบบการใช้พลังงานลงในอีกไม่กี่นาทีต่อมา


ตำแหน่งสุดท้ายของรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) อยู่ที่บริเวณหุบเขาเพอร์ซิเวอแรนซ์ แวลลีย์ (Perseverance Valley) ตั้งอยู่บนขอบด้านทิศตะวันตกของหลุมอุกกาบาตเอนดีเวอร์ เครเตอร์ (Endeavour Crater)โดยความเร็วของพายุและฝุ่นจำนวนมากที่รถหุ่นยนต์สำรวจต้องรับมือนั้นมีปริมาณมากจนยากต่อการประมาณการ นักวิทยาศาสตร์เรียกพายุลักษณะดังกล่าวนี้ว่า Planet-encircling dust events (PEDE) หรือพายุฝุ่นที่รุนแรงบนดาวเคราะห์ ผลกระทบจากพายุทำให้มีปริมาณฝุ่นจำนวนมากเกาะติดที่แผงโซลาร์เซลล์จนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบของรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) 


ต่อมาในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2018 พายุฝุ่นบนดาวอังคารเริ่มสงบลง ทีมงานบนโลกประมาณการว่ากระแสลมบนดาวอังคารในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2018 ถึงมกราคม 2019 จะช่วยปัดเป่าให้ฝุ่นที่เกาะบริเวณแผงโซลาร์เซลล์ออกไปจนทำให้สามารถกลับมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกครั้ง


วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2019 ทีมงานศูนย์ควบคุมภารกิจ (Mission Contral) ภายในห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) พยายามติดต่อไปยังรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) โดยส่งคำสั่งชุดสุดท้ายไป 4 ชุดคำสั่ง แต่ก็ยังไม่สามารถติดต่อได้สำเร็จ โดยก่อนหน้านี้ทีมงานได้พยายามส่งคำสั่งไปมากกว่า 835-1,000 ชุดคำสั่ง นับจากเดือนมิถุนายน 2018 ถึงมกราคม 2019 ต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2019 เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการจะลงความเห็นยุติภารกิจรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) ลงอย่างเป็นทางการ 


ทีมงานเจ้าหน้าที่บนโลกตัดสินใจส่งข้อมูลชุดสุดท้ายจากโลกไปยังรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) เพื่อกล่าวคำอำลาโดยใช้เพลง I'll Be Seeing You ร้องโดย Billie Holiday นักร้องสาวชื่อดังในช่วงปี 1930 อย่างไรก็ตามข้อมูลการสำรวจของรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) ตลอดระยะเวลาภารกิจ 11 ปี 2 เดือน และระยะทาง 45.16 กิโลเมตร บนพื้นผิวดาวอังคาร กลายเป็นสิ่งล้ำค่าและสำคัญต่อภารกิจสำรวจดาวอังคารภารกิจต่อไปของนาซา เช่น รถหุ่นยนต์สำรวจเคียวริโอสิตี  (Curiosity) และเพอร์ซิเวอแรนซ์ (Perseverance) รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลการสำรวจให้กับนักวิจัยทั่วโลกได้ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลอีกเป็นจำนวนมาก




ย้อนไปในปี 2003 รถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) ออกเดินทางจากโลกโดยใช้จรวด Delta II จากบริเวณฐานปล่อยจรวด SLC-17B ศูนย์อวกาศแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2003 ยานเดินทางลงจอดบนดาวอังคารสำคัญในวันที่ 25 มกราคม 2004 บริเวณที่พื้นที่เมอริเดียนี พลานัม (Meridiani Planum) หลังจากรถหุ่นยนต์สำรวจ Spirit ซึ่งเป็นฝาแฝดถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกันลงจดบนดาวอังคารเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2004 บริเวณหลุมอุกกาบาตกูเซฟ เครเตอร์ (Gusev Crater)


โครงสร้างของรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) ความสูง 1.5 เมตร กว้าง 2.3 เมตร รวมแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ความยาว 1.6 เมตร น้ำหนัก 189 กิโลกรัม ติดตั้งอุปกรณ์สำรวจ เช่น กล้องพาโนรามา (Pancam) เครื่องสร้างภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์ (MI) สเปกโตรมิเตอร์การปล่อยความร้อนขนาดเล็ก (Mini-TES) สเปกโตรมิเตอร์รังสีเอกซ์อัลฟ่า (APXS) เครื่องมือสำรวจหิน (RAT) กล้องหลีกเลี่ยงอันตรายจากการชน (Hazcams) และกล้องนำทาง (Navcams) รวมไปถึงอุปกรณ์สื่อสารเพิ่มเติมที่ใช้ส่งสัญญาณกลับมายังโลก


ภารกิจของรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) เพื่อค้นหาร่องรอยเกี่ยวกับน้ำในอดีตบนพื้นผิวดาวอังคาร การตกตะกอนและการระเหยของน้ำ ค้นหาแหล่งน้ำใต้ดินของดาวอังคาร กระบวนการทางธรณีวิทยาบนพื้นผิวดาวอังคาร การกัดเซาะของน้ำหรือลม ค้นหาแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญบนดาวอังคาร ประเมินสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงทำงานร่วมกับยานอวกาศ Mars Reconnaissance Orbiter (MRO) ที่โคจรอยู่รอบดาวอังคาร


ผลงานการค้นพบใหม่ ๆ ของรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) เช่น การค้นพบและระบุลักษณะเฉพาะของหินเรโกลิธที่มีร่องรอยของกิจกรรมทางน้ำในอดีตบนดาวอังคาร การสังเกตและถ่ายภาพทางดาราศาสตร์จากพื้นผิวดาวอังคาร ภาพถ่ายแบบพาโนรามารอบทิศทางบริเวณหุบเขาเพอร์ซิเวอแรนซ์ แวลลีย์ (Perseverance Valley) ก่อนโดนพายุฝุ่นเข้าโจมตี ภาพถ่ายปล่องหลุมอุกกาบาตแฟรม (Fram) และเพื่อเป็นเกียรติให้กับรถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) และทีมงานวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมทำภารกิจอีกจำนวนมาก นาซาได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งว่า 39382 Opportunity รวมไปถึงการจัดวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ซึ่งเท่ากับระยะทางที่รถหุ่นยนต์สำรวจออปเพอร์จูนิที (Opportunity) เดินทางสำรวจบนดาวอังคาร




ที่มาของข้อมูล JPL, Planetary.orgNASA

ที่มาของรูปภาพ Wikipedia.org

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง