รีเซต

สถิติสุดเศร้า ยังไม่จบปี 67 พะยูนตายไปแล้ว 41 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

สถิติสุดเศร้า ยังไม่จบปี 67 พะยูนตายไปแล้ว 41 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
TNN ช่อง16
4 ธันวาคม 2567 ( 18:35 )
14

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ถึงสถานการณ์การตายของพะยูน ที่ตายถี่ขึ้น พบซากพะยูนเกยตื้นแบบรายวัน โดยอ้างอิงข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ปีนี้ 2567 มีพะยูนตายไปแล้ว 41 ตัว มากกว่าปีก่อนที่ตาย 40 ตัว สองปี รวม 81 ตัว เมื่อเทียบกับจำนวนตายเฉลี่ยในอดีต ปีละ 12 ตัว พบว่าพะยูนตายเพิ่ม 3.5 เท่า ในจำนวน 41 ตัวที่ตายในปีนี้ มีอยู่ 39 ตัว ตายในพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากโลกร้อนในเขตอันดามันใต้ (ในบางพื้นที่อาจมีผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ทับซ้อนอยู่ด้วย เช่น ตะกอนทราบที่เกาะลิบง)


ผลการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดเดือนพฤศจิกายน พบว่าหญ้าทะเลในตรัง กระบี่ และสตูล ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้น หญ้าทะเลในอ่าวพังงาและภูเก็ตในบางพื้นที่เริ่มแสดงอาการคล้ายใน 3 จังหวัด น่าเป็นห่วงว่าสถานการณ์จะแย่ลง ขณะที่พะยูนเต็มวัยต้องการหญ้าทะเล 13-16 ไร่ในการหากิน หรือปกคลุมพื้นที่ร้อยละ 60 ปัจจุบันนอกจากหญ้าทะเลที่ภูเก็ตและอ่าวพังงามีพื้นที่ไม่พอ ความสมบูรณ์ต่ำ หากสถานการหญ้าทะเลเสื่อมโทรมยังไม่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลง พะยูนที่เหลืออยู่จะเสี่ยงอย่างมาก พะยูนไม่สามารถไปต่อจากอ่าวพังงาและภูเก็ตได้ เพราะแนวหญ้าทะเลสุดตรงนี้ แหล่งหญ้าทะเลต่อไปคือทับละมุซึ่งห่างไปเกือบ 100 กิโลเมตร พะยูนไม่สามารถว่ายผ่านทะเลเปิด เช่น ท้ายเหมือง เขาหลัก ไปถึงที่นั่นได้


พะยูนทั้งที่อยู่บริเวณเดิมและที่อพยพไปที่อื่นเริ่มทยอยตายลง เช่น อดอาหาร ป่วย ต่อสู้หวงแหล่งอาหาร โดนเรือชน ติดเครื่องมือประมง ถูกล่า ฯลฯ ทั้งหมดนั้นมีจุดเริ่มต้นจากหญ้าทะเลหายไป เพราะผลกระทบจากโลกร้อนทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมและใกล้ล่มสลาย


ขณะที่ทางออกที่ทำอยู่ตอนนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และอาสาสมัคร คณะประมง พยายามให้อาหารเสริมพะยูนในธรรมชาติ เช่น หญ้าทะเลตะกานน้ำเค็ม หญ้าช้อง ผักชนิดต่าง ๆ ที่ทะเลภูเก็ตและตรัง พะยูนในบางพื้นที่มากินอาหารเสริม แต่ยังมีอุปสรรค เช่น ปลาไล่ หรือแม้ไม่มีอุปสรรค แต่อาหารเสริมปัจจุบันคงมีไม่พอหากหญ้าทะเลในธรรมชาติลดลงอีก หน่วยงานต่างๆ ร่วมกับอาสาสมัครและเครือข่ายท้องถิ่น พยายามจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยอนุรักษ์ ทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องที่อาจส่งผลกระทบต่อพะยูนทางออกในอนาคต 


นอกจากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ กำลังวางแผนทำคอกขนาดใหญ่ เพื่อให้พะยูนอยู่และให้อาหาร / กรมอุทยานแห่งชาติฯและคณะประมง กำลังวางแผนจัดทำกระชังยักษ์เพื่อช่วยพะยูนป่วย ตลอดจนคอกในรูปแบบต่างๆ / คณะประมงกำลังพยายามขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงหญ้าทะเล “ตะกานน้ำเค็ม”เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้อาหารพะยูนในที่เลี้ยงในอนาคต 


ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า ความเป็นไปได้ในการจับและขนย้ายพะยูนใส่คอก ใส่กระชัง ย้ายไปแหล่งหญ้าที่อยู่ไกลออกไป แต่นั่นเป็นเรื่องยากมาก ๆ ไม่มีอะไรรับประกันว่าพะยูนจะไม่บาดเจ็บระหว่างจับ หรือแม้จะนำไปในคอก/กระชังหรือย้ายไปแหล่งหญ้าใหม่ พะยูนจะอยู่ได้ โดยสรุปยอมรับว่าอยู่ในสถานการณ์ใกล้จนตรอก เราไม่สามารถแก้โลกร้อน ต้นเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลหายไป จึงต้องหาทางออกเฉพาะหน้าเท่าที่มีความเป็นไปได้ ไม่มีเวลาทดลอง/สร้างงานวิจัย หรือทำอะไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ๆ


ข้อมูล : เฟซบุ๊ก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ Thon Thamrongnawasawat

ข่าวที่เกี่ยวข้อง