รีเซต

ญี่ปุ่นเปิดอาวุธใหม่สู้โควิด ใช้วัคซีนสูตรผสม - ยาค็อกเทลแอนติบอดี

ญี่ปุ่นเปิดอาวุธใหม่สู้โควิด ใช้วัคซีนสูตรผสม - ยาค็อกเทลแอนติบอดี
TNN ช่อง16
30 สิงหาคม 2564 ( 20:03 )
69

วันนี้ (30 ส.ค.64) รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าสกัดการระบาดโควิด-19 หลังมียอดติดเชื้อใหม่เกือบ 2 หมื่นราย และผู้ป่วยที่มีอาการหนักเกินกว่า 2 พันคน จึงอนุมัติ เต็มรูปแบบในการนำ “ยาค็อกเทลแอนติบอดี” จากสหรัฐฯ ยาตัวแรกที่ใช้รักษาโควิด-19 โดยตรง มารักษาผู้ป่วยอาการเบาถึงปานกลาง เพื่อช่วยลดการนอนโรงพยาบาลและลดเข้าห้องไอซียูได้ถึง 70% 

นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติแผนฉีด "วัคซีนสูตรผสม" โดยเข็ม 1 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นและลดระยะเวลาระหว่างโดสแรกกับโดสสอง

นายทาโร่ โคโนะหัวหน้าโครงการวัคซีนของญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมองหาความเป็นไปได้ ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรผสมแบบค็อกเทล ระหว่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับผู้ผลิตวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ

โดยโดสที่1 เป็นการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และโดสที่สองเป็นวัคซีนไฟเซอร์หรือวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งสูตรนี้จะช่วยเร่งอัตราการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และลดระยะเวลาระหว่างโดสแรกกับโดสสอง เมื่อใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก

ทั้งนี้ ในช่วงแรกของโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในญี่ปุ่น ได้ใช้วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค และวัคซีนโมเดอร์ และต่อมาญี่ปุ่นอนุมัติใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีความปลอดภัยในเดือนเดือนกรกฎาคม

ญี่ปุ่นมีอัตราการฉีดวัคซีนล้าหลังประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง พบว่าประชาชนฉีดโดสแรก คิดเป็น 54% และฉีดวัคซีนครบโดส 43% ของประชากรประเทศ

ขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของญี่ปุ่นกำลังย้ำแย่ที่สุด เนื่องจากเจอสายพันธุ์เดลต้า และยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 20,000 รายต่อเนื่องหลายวัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีจำนวน 2,070 คน มากที่สุดติดกันเป็นวันที่ 17 ส่งผลให้คะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่รับตำแหน่ง หลังประชาชนกังวลว่าระบบสาธารณสุขของประเทศจะพังทลาย


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่น พบวิธีใหม่ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด ด้วยการอนุมัติเต็มรูปแบบในการนำ “ยาค็อกเทลแอนติบอดี” (antibody cocktail) ชื่อว่า ยาแอนติบอดี Ronapreve ของบริษัทยาสหรัฐฯ ชื่อดัง เรเจนเนอรอน ฟาร์มาซูติคอลส์ อิงค์ มีส่วนผสมของสารภูมิต้านทานโมโนโคลนของยา Casirivimab และ Imdevimab เป็นการบำบัดทางหลอดเลือดดำที่มีการแสดงผลการทดสอบทางคลินิกวิทยาในต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันผู้ป่วยจากการป่วยหนักขึ้นสำหรับโรคโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงของการต้องเข้ารักษาพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 70%  

บริษัทยาญี่ปุ่น ชูไก ฟาร์มาซูติคอล โค เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์สำหรับการรักษานี้เข้ามาในญี่ปุ่น โดยผู้ป่วยที่มีสิทธิ์ได้รับการรักษาด้วยยาค็อกเทลแอนติบอดี จะเป็นผู้ป่วยที่ถูกพิจารณาว่าจะมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงสูงจากไวรัส ที่ยังมีอาการน้อยถึงปานกลาง กลุ่มสีเขียวและสีเหลืองที่มีอาการไม่เกิน 7 วัน และไม่เคยได้รับยารักษาโรคโควิดมาก่อน รวมถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สิงห์อมควัน และบุคคลที่มีภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และโรคปอด เป็นต้น

รัฐบาลญี่ปุ่น เรียกยานี้ว่า “เป็นอาวุธชนิดใหม่” ต่อสู้วิกฤตโควิด-19 โดยพุ่งเป้ารักษาผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาล รวมถึงผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ตามโรงแรมและสถานพยาบาลชั่วคราวสามารถได้รับการรักษานี้ได้

การให้ยาเบื้องต้น จะให้ในปริมาณ 1,200 มก. เป็นยาฉีดผ่านทางเส้นเลือดใช้เวลาให้ยาประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นให้สังเกตอาการ 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจึงกลับบ้านได้ และจะมีการติดตามอาการต่อไป ส่วนผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยาทั่วไป

ญี่ปุ่นได้จัดซื้อมาแล้วอย่างน้อย 70,000 โดส และคาดว่าจะมีการส่งมาเพิ่มอีก 200,000 โดสภายในสิ้นปีนี้ แต่ปัญหาคือจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อการไปรักษา เพราะยาค็อกเทลแอนติบอดีไม่สามารถแจกให้คนไข้เอาไปใช้เองได้เหมือนฟาวิพิราเวียร์ 


สำหรับกลไกของการทำงานยาแอนติบอดิ คือ การทำให้ภูมิคุ้มกันไปลบล้างฤทธิ์ ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง และตรงเข้าจับกับตัวรับบนโปรตีนรูปแบบเดือย ซึ่งอยู่บนผิวของไวรัสโควิด ช่วยให้ยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายคนได้ ซึ่งแอนติบอดี Casirivimab และ Imdevimab เข้าไปจับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อยู่บริเวณผนังระบบทางเดินหายใจ และทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ในระบบได้

ผลจากการทดลองในห้องปฎิบัติการพบว่า ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์มีความไวต่อไวรัสโควิด-19 ในสายพันธุ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

"ยาแอนติบอดีค็อกเทล" ดังกล่าว ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) แล้ว และขึ้นทะเบียน อย.ในประเทศไทยแล้ว สำหรับการจัดเก็บรักษาต้องอยู่ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยยาล็อตที่ไทยได้รับบริจาคจากเยอรมนีกว่า 2 พันชุด เป็นค็อกเทลแบบ Casirivimab และ Imdevimab เหมือนของญี่ปุ่น จะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 2565  


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง