รีเซต

เปิดกลยุทธ์ ‘ปศุสัตว์ฝ่าวิกฤต’ ก้าวทันโลก

เปิดกลยุทธ์ ‘ปศุสัตว์ฝ่าวิกฤต’ ก้าวทันโลก
เทคโนโลยีชาวบ้าน
10 ธันวาคม 2564 ( 12:11 )
84
เปิดกลยุทธ์ ‘ปศุสัตว์ฝ่าวิกฤต’ ก้าวทันโลก

ภาคเกษตรโดยเฉพาะในกลุ่มปศุสัตว์เป็นส่วนสำคัญในการเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก แต่ถึงกระนั้นการทำปศุสัตว์ในปัจจุบันยังมีจุดบอดที่ควรได้รับการพัฒนา นั่นคือการยกระดับคุณภาพการผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงของบริบทการค้าสมัยใหม่ และพฤติกรรมผู้บริโภค

จากกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากเครือเบทาโกร กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ในการนำธุรกิจปศุสัตว์ก้าวผ่านสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยยุทธศาสตร์ 3 S แนวคิดการขับเคลื่อนปศุสัตว์ยุคใหม่

 

 

 

คุณไตรรัตน์ ทองปลอด ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เครือเบทาโกร กล่าวว่า ธุรกิจภาคการเกษตรและปศุสัตว์ดูเหมือนจะไปได้ดีที่สุดในช่วงวิกฤติโควิด 19 เนื่องจากทั่วโลกกำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะผลิตอาหารป้อนตลาดโลก

แต่การทำการเกษตรและปศุสัตว์สมัยใหม่ จะต้องฉีกแนวจากดั้งเดิม เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุน ขณะเดียวกันจะต้องปรับตัวครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกและความอยู่รอด ซึ่งโมเดลที่เครือเบทาโกรนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ คือ ยุทธศาสตร์ 3 S  ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จของเครือเบทาโกร ประกอบด้วย

  • Sustainable Business Partner : การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ มุ่งสู่ความยั่งยืนควบคู่เกษตรกร แม้ว่าเครือเบทาโกรสามารถยืนหยัดอยู่ด้วยตนเองไปได้ แต่การดำเนินธุรกิจให้มั่นคงตลอดการ ต้องไม่ทอดทิ้งพันธมิตรคู่ค้าและเกษตรกรที่พร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน ไม่ว่าด้านการลงทุนและเทคโนโลยีทันสมัยนำไปใช้กับภาคการเกษตร
  • Success Livestock Economic : ในเครือเบทาโกรทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตปศุสัตว์อย่างเดียว เพื่อส่งสินค้าป้อนให้ Food Business ซึ่งบทบาทของ LIVESTOCK คือ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ทั้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และปลา โดยผลผลิตทั้งหมดจะส่งจำหน่ายให้กับทางฝั่ง Food Business โดยส่วนใหญ่เป็นหมู ไก่ ไข่ไก่ ปลา ที่แปรรูปแล้ว ซึ่งแผนกนี้จะส่งจำหน่ายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น LIVESTOCK เปรียบเสมือนเป็นฐานการผลิตสำคัญในการส่งสินค้าป้อนให้กับ Food Business เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนควบคู่กับเครือเบทาโกร
  • Smart Normal Farm : ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรควิดและการเปลี่ยนแปลงของโรคทั่วไป ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและปศุสัตว์ กลายเป็นตัวเร่งให้เกษตรกรต้องปรับตัวสู่ Smart Farm เน้นทำเกษตรและปศุสัตว์สมัยใหม่

โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทในการดูแลฟาร์มแทนมนุษย์ เนื่องจากที่ผ่านปศุสัตว์ได้รับความเสียหายหนักล้วนจากมนุษย์เป็นพาหานะนำไปสู่สัตว์เลี้ยง เช่น ยุโรป จีน หรือประเทศเพื่อนบ้าน ฟาร์มหมูได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาก็มาจากมนุษย์ทั้งสิ้น แต่ไทยโชคดีที่ยังสามารถสกัดโรคดังกล่าวได้ แต่ยังต้องเผชิญกับอีกหลายโรคคุกคามฟาร์มหมู เช่น โรคพีอีดี และเอฟเอ็มดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกษตรกรไทยปรับตัวเข้าสู่โหมดสมาร์ท ฟาร์ม ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และควบคุมในการทำฟาร์มแทนมนุษย์ จะส่งผลดีต่อภาคเกษตรและปศุสัตว์ได้อย่างมหาศาล ไม่เพียงแต่จะสามารถป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาแพร่สู่หมูได้แล้ว ส่วนโรคอื่นๆ ที่จะเข้าไปเยี่ยงกรายคงไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นเทคโนโลยีจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดภาคการเกษตรและปศุสัตว์ไทยทั้งในยุค New Normal และ Next Normal

 

5เข้ามามีบทบาทเกษตรไทยในอนาคต

 

ในอนาคตการทำฟาร์มสมัยใหม่ สิ่งที่ต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด คือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำฟาร์มปลอดภัยจากโรคต่างๆ โดยเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบาทบาทสำคัญ คือเทคโนโลยี 5G ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนประสบความสำเร็จสูงสุดในการนำเทคโนโลยี 5G มาบริหารจัดการในรูปแบบ Smart Farming ที่ไม่เพียงป้องกันโรคระบาดได้เป็นอย่างยอดเยี่ยม แล้วยังเพิ่มผลผลิตตามความต้องการได้

เนื่องจากการทำ Smart Farming ทั้งหมด สามารถควบคุมด้วยเทคโนโลยี 5G ทำให้ไม่ต้องใช้แรงงานคนในฟาร์ม เน้นการเลี้ยงระบบปิดที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ ได้ เนื่องจากที่ผ่านมามนุษย์เป็นพาหนะนำไปแพร่สู่ปศุสัตว์

ดังนั้น เมื่อฟาร์มสมัยใหม่ที่ควบคุมด้วยเทคโนโลยี 5G จะตัดขาดไม่ให้มนุษย์เข้าไปข้างสามารถควบคุมโรคต่างๆ ไม่เกิดการแพร่ระบาดสู่ปศุสัตว์ได้ 100% อีกทั้งยังทำให้สัตว์เลี้ยงเจริญเติบโตสมบูรณ์ตามความต้องการ สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้จึงประเมินว่าเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทสำคัญต่อการทำฟาร์มสมัยใหม่ เนื่องจากสามารถป้องกันโรคแพร่ระบาด แต่ต้องนำมาประยุกต์ใช้คู่กับความรู้เฉพาะตัวและทักษะของแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้การทำฟาร์มปศุสัตว์เกิดความยั่งยืน ขณะเดียวกันเกษตรกรยังต้องแสวงหาความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ ความชำนาญการจากกูรู มาบริหารจัดการความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าเติบโตยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ปศุสัตว์ศตวรรษที่ 21 ต้องรู้ทันสถานการณ์โลก

ในมุมมองธุรกิจการเกษตร (ปศุสัตว์) ของ คุณฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สะท้อนความคิดเห็นว่า การที่เรารู้เท่าทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถือว่าเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งทำให้สามารถทำธุรกิจประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมตัวและเตรียมใจในการปรับปรุงกลยุทธ์ ตลอดทั้งมาตรการต่างๆ ในการทำการเกษตรและการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ต่อไป

ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและแนวโน้มต่างๆ นอกจากเรื่องปศุสัตว์แล้วก็เรื่องอื่นๆ มีการผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจภาคการเกษตร (ปศุสัตว์) การผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง โดย 1 ในนั้นคือการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบอย่างชัดเจน

นอกจากนั้นยังจะมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้วันนี้ถ้าไม่รู้เท่าทันเกี่ยวกับเทคโนโลยี ทำให้ตกยุคสมัยไม่สามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจ การผลิต ไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้บริโภคมาสนใจสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ การระบาดของโรคต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญ ภัยพิบัติธรรมชาติก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนต้องจับตามมอง เพราะภัยพิบัติทุกวันนี้ทวีความรุนแรงมากกว่าสมัยก่อน จึงต้องเตรียมตัวรองรับผลกระทบจากภัยพิบัติไว้ทุกปี

อย่างไรก็ตาม สิ่งสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึง คือความขัดแย้งต่างๆ ทั้งในเรื่องสถานการณ์ภายในประเทศหรือต่างประเทศ ความขัดแย้งทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ ก็เป็นผลกระทบที่เกี่ยวข้องมาสู่ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจทั้งหมด แม้ว่ามูลค่าภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีมูลค่าแค่ 1,374,987 ล้านบาท

แต่เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า 5,258,973 ล้านบาท ส่วนภาคบริการ 10,264,126 ล้านบาท จากตัวเลข GDP ของประเทศไทยในปี 2562 แต่อย่าลืมว่าเมื่อเกิดวิกฤตครั้งใด เศรษฐกิจไทยอยู่ได้เพราะภาคการเกษตรที่มีส่วนประคับประคองประเทศชาติไปรอดได้ ขณะภาคอุตสาหกรรมอื่นตายหมด

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตภาคอุตสาหกรรมเกษตรก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ เพราะสามารถผลิตสินค้าบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศได้

ในหลายๆ ประเทศที่ไม่ได้ทำภาคการเกษตร เขาเกิดวิกฤติมาก ขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ถือว่าประเทศไทยโชคดีมีภาคการเกษตรช่วยพยุง เพราะเราทำการเกษตรมายาวนาน และเราเป็นประเทศที่เลี้ยงตัวเองได้จากการเกษตร หากเกิดภัยพิบัติหรือภัยวิกฤติต่างๆ เรายังอยู่รอดได้ ต้องยกให้ภาคการเกษตรเป็นฮีโร่ช่วยประเทศชาติยามวิกฤติ

 

รุกตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อความอยู่รอด

 

ด้านการตลาดนั้น คุณฉันทานนท์ แนะนำดังนี้

  1. ขยายช่องทางการจำหน่ายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง อาทิ การเกษตรกพันธะสัญญา (Contract Farming) ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย, การตลาดออฟไลน์ เช่นModern Trade รถโมบายเป็นต้น, การจำหน่ายผ่าน Platforn Online ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปี้ ลาซาดา อะเมซอน เป็นต้น
  2. ปรับตัวในภาวะเงินบาทแข็งค่า คือการทำสัญญาแลกเปลี่ยน (SWAP) เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงิน, การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
  3. ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลงทางด้านค้าให้มากขึ้น เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในสุกรมีชีวิต, ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (AJCEP) ในสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์, หาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เป็นต้น

ปัจจุบัน การทำธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเกษตรต้องตื่นตัวรับรู้สถานการณ์ ข่าวสาร และต้องมีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา ที่สำคัญผลิตสินค้าออกมาต้องมีตลาดรองรับ หากผลิตออกมาไม่รู้ว่าจะขายที่ไหนโอกาสที่ขาดทุนมีสูง

ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าตลาดคือใคร ขายให้ใคร ยิ่งทำธุรกิจแบบพันธะสัญญาได้จะเป็นสิ่งที่ดียิ่ง แต่ต้องดูด้วยว่าทำสัญญาแล้วจะไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ซึ่งหากทำได้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างแน่นอน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง