ยาอินซูลินรักษาเบาหวานชนิดรับประทาน ปล่อยตัวยาได้เองตามระดับน้ำตาล
ปกติแล้วการบริหารจัดการยาในผู้ป่วยเบาหวาน มักจะกำหนดให้ผู้ป่วยทานหรือฉีดยาเป็นประจำทุกวัน ซึ่งบางครั้งปริมาณยาก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะลดระดับน้ำตาลลงได้อย่างเหมาะสม หรือลดระดับน้ำตาลมากเกินไปก็มี แน่นอว่ามันล้วนส่งผลเสียต่อร่างกายด้วยกันทั้งสิ้น
นักวิทยาศาสตร์จึงคิดค้นยาที่สามารถปล่อยอินซูลิน (Insulin-ฮอร์โมนลดระดับน้ำตาลในเลือด) ออกมาได้ตามระดับน้ำตาลของร่างกาย เป็นต้นว่าเมื่อระดับน้ำตาลในร่างกายสูงมากเกินไป ตัวยาจถูกปล่อยออกมาจากแคปซูลทันที
เดิมการบริหารยาอินซูลินจะทำได้เฉพาะรูปแบบของยาฉีดเท่านั้น เนื่องจากมันเป็นสารที่ย่อยสลายได้ง่ายเมื่อเจอกรดในกระเพาะอาหาร งานวิจัยนี้จึงนับว่าเป็นงานที่ท้าทายสำหรับนักวิทยาศาสตร์จากห้องแลปแห่งมหาวิทยาลัย New York University Abu Dhabi
นักวิทยาศาสตร์ได้ออกแบบโครงสร้างที่เรียกว่า Gastro-resistant imine-linked-covalent organic framework nanoparticles (nCOFs) ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดเล็กจิ๋วที่บรรจุโมเลกุลของอินซูลินไว้ แล้วครอบทับด้วยแคปซูลชนิดพิเศษที่ทนทานต่อกรดในกระเพาะอาหาร เมื่อส่วนของแคปซูลถูกย่อย nCOFs ก็จะถูกดูดซึมเข้าไปยังกระแสเลือดผ่านพื้นผิวของลำไส้นั่นเอง
เนื่องจากที่ผิวของโครงสร้าง nCOFs มีรูพรุน กรณีที่ในเลือดมีน้ำตาลสูง โมเลกุลของน้ำตาลจะเข้ามาสัมผัสกับโครงสร้าง nCOFs ได้มากและกระตุ้นให้เกิดการปล่อยตัวยาอินซูลินออกมา จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะตัวยาจึงจะหยุดปล่อยออกมา
จากการทดสอบในหนูทดลองพบว่า nCOFs ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงสู่ระดับปกติได้ภายใน 2 ชั่วโมง และยังสามารถปล่อยออกมาได้เรื่อย ๆ จนกว่าตัวยาจะหมด ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จทางด้านการแพทย์ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas