รีเซต

แผ่นแปะผิวหนังเทียม ส่งต่อสัมผัสเสมือนจริงสู่คนพิเศษ

แผ่นแปะผิวหนังเทียม ส่งต่อสัมผัสเสมือนจริงสู่คนพิเศษ
TNN ช่อง16
28 กุมภาพันธ์ 2566 ( 16:13 )
42
แผ่นแปะผิวหนังเทียม ส่งต่อสัมผัสเสมือนจริงสู่คนพิเศษ
ปัจจุบันนี้ เรามักจะเห็นว่าคู่รักหลายคู่คบหากันโดยไม่ได้อยู่ใกล้กัน หรือบางคน อาจจะต้องจากครอบครัวไปอยู่ต่างถิ่นเพื่อแก้ไขความรู้สึกโหยหาการสัมผัสทางกาย จึงมีการคิดค้นนวัตกรรม แผ่นผิวหนังเทียม ที่สร้างและส่งสัมผัสเสมือนจริงให้กับผู้สวมใส่ได้ 

โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิตี (City University) ในฮ่องกง ได้คิดค้นแผ่นแปะผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า อี-สกิน (E-Skin) ตัวแผ่นแปะทำจากซิลิโคน บางเพียง 4.2 มิลลิเมตร ตรงกลางมีแผงวงจร และตัวกระตุ้นแบบยืดหดได้ ขนาด 2.8 x 3.9 นิ้ว จำนวน 16 ตัวอยู่ภายใน ซึ่งตัวกระตุ้นแต่ละชิ้น ประกอบไปด้วยแผ่นฟิล์ม โพลีไดเมทิลไซลอกเซน (PDMS - polydimethylsiloxane) ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ประสิทธิภาพสูงที่มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีเฉพาะตัว เช่น ยืดหยุ่น ทนต่อความร้อน รวมถึงส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น ขดลวด และแม่เหล็ก


ที่มาของรูปภาพ science.org


สำหรับการทำงานของอุปกรณ์นี้ เริ่มจากการนำแผ่นแปะที่มีตัวเชื่อมสัญญาณตัวส่งและตัวรับเข้าคู่กันมาแปะบนผิวหนัง เมื่อสัมผัสแผ่นแปะ ตัวรับแรงกดภายในก็จะส่งค่าแรงสัมผัสไปยังหน่วยควบคุมเพื่อแปลงเป็นสัญญาณดิจิทัล จากนั้นอุปกรณ์บลูทูธก็จะส่งสัญญาณดิจิทัลที่ได้ไปยังแผ่นแปะที่อีกคนสวมใส่ เพื่อสร้างแรงกดตามที่ได้รับสัญญาณมา โดยแผ่นแปะสามารถใช้ทั้งการรับและส่งสัญญาณการสัมผัสได้พร้อม ๆ กันด้วย 

ทั้งนี้ทีมวิจัยเผยว่า แม้จะมีอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างสัมผัสจำลองวางขายอยู่มากมายในท้องตลาด แต่จุดเด่นของแผ่นแปะ E-Skin คือระบบเซลฟ์ เซนซิง (Self-Sensing) ที่สามารถตรวจจับ และลอกเลียนแบบลักษณะการสัมผัสของอีกฝ่ายได้แบบเสมือนจริง จากตัวกระตุ้นที่มีอยู่มากถึง 16 ตัวต่อแผ่นแปะ 1 ชิ้น และในอนาคต แผ่นแปะผิวหนัง E-Skin จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นสมาร์ตโฟน และระบบ Internet of Things (IoT) หรือการเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ด้วยอินเทอร์เน็ต เพื่อนำไปใช้กับเทคโนโลยี Metaverse หรือโลกเสมือนได้

ทีมวิจัยยังเผยว่า พวกเขามีแผนที่จะพัฒนาระบบให้รองรับผู้มีปัญหาด้านการมองเห็น โดยทำให้อักษรเบรลล์ปรากฏบน E-Skin เพื่อถ่ายทอดข้อแนะนำด้านทิศทาง หรืออ่านข้อความผ่านแผ่นแปะได้อีกด้วย

ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Science




ข่าวที่เกี่ยวข้อง