เกาหลีใต้ใช้มาตรการ "แต่งงานรับเงิน 20 ล้านวอน" แก้วิกฤตแต่งงานน้อย

ท่ามกลางวิกฤตประชากรและอัตราการเกิดที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องในเกาหลีใต้ รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งเริ่มขยับนโยบายไปไกลกว่าการสนับสนุนการมีลูก ด้วยการเสนอ “เงินสดจูงใจให้แต่งงาน” ที่ครอบคลุมตั้งแต่ค่าออกเดตแรกจนถึงค่าเดินทางฮันนีมูน
แต่ในขณะที่เจตนาเร่งด่วนชัดเจน นักวิจารณ์กลับมองว่า “เงินก้อนครั้งเดียว” เหล่านี้ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้คนแต่งงานช้าลงหรือไม่แต่งเลยได้
เงินจูงใจแต่งงานเริ่มบูมทั่วประเทศ โดยในเขตซาฮา เมืองปูซาน ทางการประกาศจ่ายเงินสูงสุดถึง 20 ล้านวอน หรือราว 476,000 บาท ให้คู่รักที่แต่งงานกันหลังเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ของเขต
สิ่งที่รวมอยู่ในแพ็กเกจ ได้แก่ ค่าคบหาดูใจ 500,000 วอน (ราว 12,000 บาท), ค่าแนะนำตัวฝ่ายพ่อแม่ 1 ล้านวอน (ราว 23,871 บาท), ค่าท่องเที่ยวฮันนีมูน 10 ล้านวอน (ราว 237,805 บาท)
แม้ตอนนี้ยังไม่มีคู่ไหนรับเงินเต็มจำนวน แต่เจ้าหน้าที่เขตระบุว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายประชากรเพื่อรับมือกับอัตราการเกิดที่ต่ำและการลดลงของประชากรในภูมิภาค
ขณะที่เมืองอื่น ๆ กำลังทำตาม เช่น จังหวัดคยองซังใต้ คู่แต่งงานอายุ 19-45 ปีที่แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเกิน 3 เดือน จะได้รับ 600,000 วอน/ปี (ราว 14,270 บาท) นาน 3 ปี
เมืองฮาดง เพิ่มเงินจูงใจจาก 5 ล้านวอนเป็น 6 ล้านวอน หรือจากราว 118,903 บาทเป็นราว 142,683 บาท
กรุงโซลเตรียมเปิดตัว “เงินตั้งต้นชีวิตสมรส” 1 ล้านวอน หรือราว 23,871 บาท สำหรับคู่แต่งงานที่จดทะเบียนสมรส เริ่มเดือนตุลาคมนี้
จังหวัดคยองกีจะให้เงินคู่รักอายุ 19–39 ปีในลักษณะเดียวกัน
ส่วนบางพื้นที่ให้มากกว่านั้น ที่อำเภอซุนชัง จังหวัดช็อลลาเหนือ ให้ 10 ล้านวอน (ราว 237,805 บาท) ในรูปสกุลเงินท้องถิ่นแก่คู่แต่งงานที่อยู่เกิน 1 ปี ส่วนที่เมืองฮวาซุนและยองดงแจก 10 ล้านวอนแบบผ่อนจ่ายภายใน 5 ปี
ขณะที่นักวิชาการก็ออกมาเตือนว่าแค่เงินอย่างเดียวยังไม่พอ ศาสตราจารย์ฮง ซอกชอล นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโซลกล่าวว่า นโยบายแบบนี้อาจซ้ำรอยความล้มเหลวของ “โบนัสลูกคนแรก” และเงินอุดหนุนเลี้ยงเด็ก ที่ใช้มาหลายปีแต่ก็ไม่ช่วยให้อัตราการเกิดดีขึ้น รัฐควรโฟกัสไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้การทำงานและครอบครัวอยู่ร่วมกันได้ และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย แต่นโยบายเงินจูงใจตอนนี้กลับสะท้อนการแข่งขันระหว่างท้องถิ่นและการเร่งดำเนินการโดยไม่รอบคอบ
การแจกเงินแต่งงานดูเหมือนจะเป็นการทำอะไรบางอย่างท่ามกลางความเร่งด่วนของวิกฤตประชากร แต่คำถามยังคงอยู่ว่าแต่งงานเพราะรัก หรือเพราะได้เงิน? และถ้าเป็นอย่างหลัง เงินจำนวนนี้จะช่วยให้ชีวิตคู่ยั่งยืน หรือเป็นเพียงเครื่องมือชั่วคราว ที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง