สร้างลูกบาสแบบใหม่ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไม่ต้องสูบลมและได้ฟีลเหมือนเดิม
วิลสัน (Wilson) หนึ่งในผู้ผลิตลูกบาสเกตบอลชั้นนำของโลก เตรียมนำลูกบาสเกตบอลที่สร้างขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาใช้งานหลังจากผ่านการทดสอบในการแข่งขัน เอทีแอนด์ที สแลม ดังค์ (AT&T Slam Dunk Contest) รายการแข่งขันทักษะการจับลูกบาสเกตบอลลงห่วงเพื่อทำคะแนนที่จัดขึ้นระหว่างสัปดาห์การแข่งขันลีกบาสเกตบอล NBA ที่รวมดาวเด่น (All-Stars) ในลีกวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
บริษัท วิลสัน สปอร์ตติ้ง กู๊ดส์ (Wilson Sporting Goods) ได้ร่วมมือกับบริษัท อีโอเอส (EOS) ผู้เชี่ยวชาญด้านการขึ้นรูปวัสดุและผลิตภัณฑ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อสร้างต้นแบบลูกบาสเกตบอลจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขึ้นมา
ความพิเศษของลูกบาสเกตบอลนี้อยู่ที่การไม่ต้องเติมลมเพื่อทำให้มีคุณสมบัติการกระเด้งเมื่อกระทบพื้นอีกต่อไป ด้วยการขึ้นรูปในลักษณะของตาข่าย 3 มิติ (3D Lattice) ที่มีช่องแต่ละช่องเป็นลักษณะหกเหลี่ยม (Hexagonal Hole) ขนาดเล็ก ซึ่งทำให้อากาศสามารถลอดผ่านรูดังกล่าวได้ตลอดเวลา แต่ยังคงสามารถกระดอนเมื่อกระแทกลงพื้นได้ตามปกติอันเนื่องมาจากโครงสร้างแบบหกเหลี่ยมที่ทำหน้าที่คล้ายสปริง
ลูกบาสเกตบอลแบบใหม่ถูกทดสอบครั้งแรกในการแข่งขัน เอทีแอนด์ที สแลม ดังค์ (AT&T Slam Dunk Contest) ซึ่งลูกบาสเกตบอลจะต้องรับแรงกระแทกมหาศาลจากการดังค์ (Dunk) ของผู้เข้าแข่งขัน และผลลัพธ์ก็ปรากฏว่าสามารถทำให้ผู้เข้าแข่งซึ่งเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพไม่รับรู้ถึงความแตกต่างกับลูกบาสเกตบอลแบบเดิมที่ต้องเติมลมแต่อย่างใด
การทดสอบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทำให้ทางบริษัทตั้งเป้าจะนำลูกบาสเกตบอลแบบใหม่ไปใช้งานจริงตามการแข่งขันและการวางจำหน่ายทั่วไป โดยชี้ให้เห็นถึงข้อดีของความทนทานและไม่จำเป็นต้องเติมลมอย่างสม่ำเสมออีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทวิลสันก็จำเป็นต้องทดสอบการใช้งานภายใต้สถานการณ์อื่น ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนวางจำหน่ายจริงในอนาคต
ที่มาข้อมูล Designboom
ที่มารูปภาพ Wilson Sporting Goods