ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เมื่อฮอร์โมนอายที่จะออกโรง

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย คือภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่เกิดขึ้นได้กับเพศชายในวัยตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป จากการเก็บข้อมูการรักษาที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าอาการดังกล่าวเกิดจากภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และปล่อยผ่านจนเลยจุดที่ยากต่อการรักษา สิ่งสำคัญผู้ป่วยควรตระหนักถึงกลุ่มอาการและปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะเหล่านี้
อาการของผู้ชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง อีกทั้งอาการเหล่านี้อาจจะเกิดจากโรคและความผิดปกติอื่นๆ ได้เช่นกัน ได้แก่ ความต้องการทางเพศลดลง สมรรถภาพทางเพศบกพร่อง อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง อารมณ์แปรปรวน หลงลืมง่าย นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น โดยมีการคาดการณ์ว่าฮอร์โมนเพศชายจะค่อยๆ ลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปีของปริมาณที่มีอยู่เดิมหลังจากผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี
ฮอร์โมนเพศชายที่กล่าวถึง คือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ทำให้เด็กผู้ชายเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นจะมีเสียงห้าว มีหนวด เครา และอวัยวะเพศมีพัฒนาการมากขึ้น โดยเซลล์ในลูกอัณฑะเองอยู่ภายใต้อิทธิพลจากต่อมใต้สมองทำให้มีการผลิตฮอร์โมนตามปกติ หากเซลล์ในอัณฑะไม่ตอบสนองต่อการควบคุมจากต่อมใต้สมองก็จะทำให้การผลิตฮอร์โมนเพศลดลง การไม่ตอบสนองต่อต่อมใต้สมองอาจจะเกิดจากการป่วยเรื้อรังได้ เช่น เบาหวาน อ้วน ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น
กลุ่มที่มีความเสี่ยง
-เพศชายที่มีความเครียด ใช้ชีวิตหนัก
-พักผ่อนน้อย
-อ้วนลงพุง
-ไม่ค่อยมีเพศสัมพันธ์
-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง
อาการ
-ไม่กระฉับกระเฉง เฉื่อยชา
-ขาดความมั่นใจ
-หงุดหงิดง่าย
-นอนไม่หลับ
-ซึมเศร้า
-อารมณ์แปรปรวน
-อ้วนลงพุง
-เส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว
-รู้สึกร้อนวูบวาบ
-ไม่มีความรู้สึกทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
วิธีการตรวจ
เริ่มจากการทำแบบสอบถาม เพื่อคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายในเบื้องต้น
แพทย์จะประเมินอาการ โดยการตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศชายด้วยการเจาะเลือด จากนั้นจะวินิจฉัยการรักษาที่เฉพาะเจาะจงตามอาการของผู้ป่วย
การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
-การรักษาแบบให้ฮอร์โมนเสริมจะสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยทั่วๆ ไปของผู้ชายดีขึ้นได้ เช่น เพิ่มความรู้สึกทางอารมณ์และการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น มีพลังและความกระฉับกระเฉงมากขึ้น และยังพัฒนาเรื่องต่างๆ นี้ให้มากขึ้นด้วย ได้แก่ ความสนใจในเรื่องทางเพศ การงอกของขนตามร่างกาย ความหนาแน่นของกระดูก และมวลกล้ามเนื้อ วิธีการรักษาแบบเสริมฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีหลายวิธีได้แก่
-การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมการรับประทานอาหารประเภทแป้งและไขมัน รวมถึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาระดับฮอร์โมนเพศชายที่จำเป็นต่อสรีระการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น การคงสภาวะกระดูกกล้ามเนื้อ อารมณ์ ความต้องการทางเพศ และสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะความรู้สึกถึงคุณภาพการดำรงชีวิต และการตอบสนองทางเพศ
การใช้ยาฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่
-ยาทาผิวหนัง เป็นลักษณะเจลใสในบรรจุอยู่ในซอง ใช้สำหรับทาลงบนผิวหนังที่แห้งและสะอาดบริเวณหัวไหล่ ต้นแขน หรือหน้าท้อง
-การฉีดยา โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อของผู้ป่วย