รีเซต

ทำไมผู้หญิงอายุยืนกว่า ? นักวิจัยพบอาจเป็นเพราะเซลล์สืบพันธุ์ ผลลัพธ์อาจนำไปสู่การควบคุมการแก่ชราได้

ทำไมผู้หญิงอายุยืนกว่า ? นักวิจัยพบอาจเป็นเพราะเซลล์สืบพันธุ์ ผลลัพธ์อาจนำไปสู่การควบคุมการแก่ชราได้
TNN ช่อง16
19 มิถุนายน 2567 ( 14:06 )
45

“เหตุใดผู้หญิงจึงมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย” นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น อาจค้นพบคำอธิบายทางชีววิทยาของคำถามนี้แล้ว โดยอาจเป็นเพราะเซลล์สืบพันธุ์คือสเปิร์มและไข่ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน และความเข้าใจนี้ อาจทำให้มนุษย์สามารถควบคุมการแก่ชราได้


ทั้งนี้สำหรับอายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงและผู้ชายทั่วโลก สื่อสัญชาติอังกฤษอย่าง The Guardian รายงานว่า ผู้หญิงจะอายุยืนกว่าผู้ชายประมาณร้อยละ 5 แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ เช่น การใช้ชีวิต ตัวอย่างคือพบว่าผู้ชายมีแนวโน้มเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงมีลักษณะการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพกว่าผู้ชาย ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้ก็เกิดกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย เช่น เอป (ลิงไม่มีหาง) เพศเมียก็อายุยืนกว่าเพศผู้เช่นกัน


การศึกษานี้ นักวิจัยได้ศึกษาปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่ชื่อว่า เทอร์ควอยซ์คิลลี่ฟิช (Turquoise Killifish) โดยพบว่าการกำจัดเซลล์สืบพันธุ์ออกจากปลาทั้ง 2 เพศ ส่งผลต่ออายุขัยของปลาตัวผู้และตัวเมียต่างกัน คือเมื่อนำเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตอสุจิออกจากปลาเพศผู้ อายุขัยของพวกมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในขณะเดียวกันหากนำเซลล์ไข่ออกจากปลาเพศเมียจะได้รับผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม คืออายุขัยจะลดลงร้อยละ 10 


นักวิจัยพบว่า เมื่อนำเซลล์สืบพันธุ์ออกจากตัวปลาแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยในปลาเพศเมียเมื่อไม่มีเซลล์สืบพันธุ์ จะสูญเสียการรักษาเนื้อเยื่อให้แข็งแรง ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง) ที่ลดลงยังทำให้เซลล์เครียดมากขึ้น และแก่เร็วขึ้นด้วย ในทางกลับกัน ปลาเพศผู้เมื่อไม่มีเซลล์สืบพันธุ์แล้ว จะผลิตวิตามินดีได้มากขึ้น ส่งผลให้การสร้างกล้ามเนื้อใหม่ดีขึ้น รวมถึงสุขภาพผิวหนังและความหนาแน่นของกระดูกก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน


ศาสตราจารย์โทฮรุ อิชิทานิ (Tohru Ishitani) ผู้เขียนอาวุโสของงานวิจัยนี้ กล่าวว่า “เราคาดหวังว่าการกำจัดเซลล์สืบพันธุ์จะช่วยยืดอายุขัยของทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่ผลลัพธ์คือมันจะยืดอายุขัยให้เฉพาะเพศชายเท่านั้น ส่วนเพศหญิงจะอายุขัยสั้นลง”


ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างวิตามินดีที่ทำให้เพศชายอายุขัยเพิ่มขึ้น โดยเสริมวิตามินดีให้ปลาทั้ง 2 เพศ และพบว่ามันจะช่วยเพิ่มอายุขัยให้ปลาเพศผู้ร้อยละ 21 ในขณะที่เพศหญิงอายุไขเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ซึ่งการเสริมวิตามินดีให้ปลา นักวิจัยไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้น 


อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำว่าหากมนุษย์จะใช้วิตามินดี เพื่อให้ได้ผลดีเช่นเดียวกับปลา ต้องรับในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ให้เกินปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน โดยในสหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำให้รับประทานวิตามินดีเสริม 10 ไมโครกรัมหรือ 400 IU ต่อวันในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว หากรับประทานมากกว่า 100 ไมโครกรัมหรือ 4,000 IU ต่อวัน ก็อาจเป็นอันตรายได้


แม้ว่าผลการวิจัยมีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังไม่รับการยืนยันว่าเซลล์สืบพันธุ์เป็นตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอายุขัยจริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่สนับสนุนอยู่บ้าง เช่น ในปี 2012 มีการศึกษาขันทีชาวเกาหลี 81 คนที่มีชีวิตอยู่ในราชวงศ์โชซอน (ค.ศ. 1392 – 1910) โดยขันทีเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี ในขณะที่อายุขัยของผู้ชายเกาหลีในยุคเดียวกัน ซึ่งมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายคลึงกันที่ไม่ได้ถูกตัดอวัยวะเพศ มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50.9 ปี 


การค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ว่า เซลล์สืบพันธุ์อาจมีบทบาทสำคัญในการควบคุมอายุขัย โดยมีผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปตามเพศหรือสภาพแวดล้อมที่เผชิญ 


ศาสตราจารย์อิชิทานิกล่าวว่า “ผมคิดว่าการวิจัยครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจการควบคุมความชราในมนุษย์”


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2024 


ที่มาข้อมูล TheguardianInterestingEngineeringScience

ข่าวที่เกี่ยวข้อง