รีเซต

ลอบสังหาร “พัค ช็อง ฮี” การฆาตกรรมผู้นำแสนอุกอาจ แต่กลับ “ได้ใจ” ชาวเกาหลีใต้

ลอบสังหาร “พัค ช็อง ฮี” การฆาตกรรมผู้นำแสนอุกอาจ แต่กลับ “ได้ใจ” ชาวเกาหลีใต้
TNN ช่อง16
16 พฤษภาคม 2567 ( 13:07 )
86

การลอบสังหาร โรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสโลวัก หรือสโลวาเกีย ที่ตอนนี้ พ้นขีดอันตรายแล้ว 


การลอบสังหารผู้นำที่อันตรายถึงชีวิต เป็นการกระทำอุกอาจ ไม่ว่าผู้นำท่านนั้นจะเป็นฝักฝ่ายใด เป็นศัตรูคู่อาฆาตถึงเพียงใด ผู้คนย่อมต้องเศร้าโศก เสียใจ หรือไว้อาลัยทั้งสิ้น


แต่ไม่ใช่กับการลอบสังหารประธานาธิบดี “พัค ช็อง ฮี” ของเกาหลีใต้ ในปี 1979 ด้วยเงื้อมมือนายทหารคนสนิท ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ 10.26” นอกจากเป็นการตายที่ “ได้ใจ” ประชาชนแล้ว ยังสรรเสริญผู้ก่อเหตุให้เป็นวีรบุรุษอีกด้วย


เกิดอะไรขึ้น? เหตุใดการตายของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ครองอำนาจมายาวนานในเกาหลีใต้จึงสร้างความปิติแก่ประเทศมากมายมหาศาลเช่นนั้น ติดตามได้ในบทความนี้


ผมต้องยิง เพื่อชาติบ้านเมือง


เหตุการณ์เริ่มขึ้นในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่เซฟเฮาส์ใกล้ ช็อง วา แด (ที่ทำการประธานาธิบดีเกาหลีใต้) ในเขตคุงจ็อง ระหว่าง พัค ช็อง ฮี และบุคลากรของสำนักข่าวกรองกลางเกาหลี หรือ KCIA พูดคุยในประเด็นการปราบปรามผู้ชุมนุมในการประท้วงพูซัน-มาซัน ของบรรดานักศึกษาและกลุ่มผู้ต่อต้านระบอบการปกครองของพัค ที่อยู่มายาวนานกว่า 18 ปี


ระหว่างที่กำลังสังสรรค์ อยู่ ๆ “คิม แจ กยู” อธิบดีของ KCIA ก็ลั่นวาจาว่า “ไอ้พวกโอหัง!” ก่อนควักวอลเทอร์ พีพีเค ออกมาลั่น ชา จี ชอล หัวหน้าอารักขาของประธานาธิบดี ไปที่แขน แล้วหันปากกระบอกปืนไปที่พัค ที่ตกใจกลัว และลั่นวาจาว่า “ทำเพื่ออะไร!” คิมยังคงยึดมั่น และตอบไปว่า “แกตายไปเสียเถอะ!” 


กระสุนสองนัดเข้ากลางอกของพัค ส่วนนัดที่สามขัดลำกล้อง แต่นั่นก็เพียงพอให้พัคเสียชีวิตคาที่ สิ้นสุดตำนานผู้นำอำนาจนิยมสายรักชาติบ้านเมือง


คิม มอบตัวแต่โดยดี โดยในขั้นตอนการไต่สวน คิมลั่นวาจาว่า “ผมทำไปเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อประชาธิปไตย ล้มล้างเผด็จการ พัค ช็อง ฮี”


ทางประวัติศาสตร์แล้ว ถือเป็นคำให้การที่เชื่อถือลำบาก เพราะอย่าลืมว่า คิมใหญ่ที่สุดใน KCIA คุมกองกำลังลับทั้งหมดไว้ในมือ ชนิดที่ทำรัฐประหารซ้อนได้สบาย แต่เหตุใด จึงทำการจ่อยิงอุกอาจ ไร้แบบแผน และยอมมอบตัวง่าย ๆ ถึงเพียงนี้


ถึงขนาดที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐอเมริกาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งคิมเพื่อ “สังหาร” พัค เพราะคิมมีสัมพันธ์อันดีกับ CIA ที่สนับสนุนงบประมาณด้านความมั่นคงแก่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ลับ ซึ่งต้องผ่านคิมในการกระจายงบประมาณ 


ทิม ชอร์ร็อค ได้เสนอไว้ในงาน Jimmy Carter, the Assassination of Park Chung Hee, and the Pusan-Masan Uprising of 1979 ความว่า


“ช่วงก่อนเกิดการลอบสังหาร CIA เชื่อมั่นในระบอบพัคอย่างมากว่าเอาอยู่ ถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 จึงเพิกเฉยต่อพลังของการเคลื่อนไหว เนื่องจากไม่มีความสามารถมากพอที่จะรวบรวมพลัง และสร้างความเห็นอกเห็นใจของปวงชน หรือสิทธิแรงงานได้… แต่สัญญาณเตือนของเศรษฐกิจถดถอย อาจทำให้การรวมกลุ่มชุมนุมแข็งแกร่งขึ้น และสั่นคลอนระบอบพัคอย่างหนัก การรักษาตำแหน่งของเขาจึงทำได้ยากยิ่งขึ้น”


ไม่ว่าแรงจูงใจสู่การลั่นไกของคิมจะเป็นอย่างไร แต่การกระทำของเขานั้น “ได้ใจ” ประชาชนเกาหลีใต้อย่างมาก


ถึงขนาดที่ว่า นิยามให้คิมเป็น “แอคติวิสต์ประชาธิปไตย” หรือ “นักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้า” และเป็นวีรบุรุษ ทั้งที่จริง ๆ นั้น ชั่วชีวิตของคิม ได้รับการปลูกฝังแบบแผนทางทหาร รวมถึงเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร 1961 และการร่างรัฐธรรมนูญยูชิน 1973 ที่เอื้อให้แก่การใช้อำนาจของท่านพัคอย่างมาก 


ในทางกลับกัน พัค อาจถูกมองเป็นบุคคลที่ “น่าสงสาร” เพราะคุณประโยชน์ของระบอบอำนาจนิยมที่นำโดยเขา ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นประเทศพัฒนาได้ในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี ผลิตสินค้าและบริการที่สามารถแข่งขันกับตลาดตะวันตกได้ รวมถึงสร้าง “การรับรู้ (Recognition)” ประเทศเกาหลีใต้ว่า เป็นมหาอำนาจกลาง (Middle Power) ได้อย่างน่าทึ่ง จนขนานนามว่า “มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮัน (The Miracle of Han River)” เลยทีเดียว


ตายไม่ลับ กลับสืบทอดอำนาจทหาร


จะเห็นได้ว่า การกระทำบางอย่างที่เข้ากันได้กับกระแสสังคม สามารถที่ “ลบล้าง” ความผิดเดิมที่สร้างความไม่พอใจต่อสังคมไปได้ 


เห็นได้จากกรณี คิม แจ กยู ที่ยิงปืนเพียงสองนัดใส่ พัค ช็อง ฮี แต่กลับกลายเป็น “มรณสักขีนักปฏิวัติ” เสียอย่างนั้น ทั้งที่ไม่แน่ใจว่า ในชีวิตนี้ เขาเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่


ผลสืบเนื่องจากการลอบสังหารนี้ ไม่ได้ทำให้เกาหลีใต้ได้ประชาธิปไตยแบบถาวร กลับกัน เป็นการ “เปลี่ยนขั้วอำนาจ” ทางกองทัพใหม่เข้ามาแทนที่


ช็อน ดู ฮวัน อดีตคนสนิทของพัค ได้กระทำการรัฐประหารซ้อน รวบอำนาจขั้วเดิม มาเป็นขั้วใหม่ที่นำโดยตนและ โน แท อู และทำการขจัดเด็กในคาถาของท่านพัคจำพวกอื่น ๆ ออกไปให้สิ้น


การปกครองของช็อน เลวร้ายเสียยิ่งกว่าพัค เพราะตอนนั้น ประเทศเจริญถึงขีดสุดจึงเติบโตได้ช้าลง ทำให้สิ่งที่เคยรุ่งเรือง อาจชะงักไปอยู่ไม่น้อย 


การชุมนุมประท้วงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ครั้งนี้ ช็อนใช้อำนาจขั้นรุนแรงปราบปรามนักศึกษาและนักเคลื่อนไหว มีการใช้กระสุนจริง รวมถึงขังลืม จนในที่สุด ก็นำไปสู่ “การปราบปรามที่กวังจู 1980” โดยมีผู้เสียชีวิต 165 ราย สูญหายกว่า 76 ราย เลยทีเดียว


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง