รีเซต

4 โบรกเก็งงบ "แบงก์" ไตรมาส 2/68 กำไรวูบ-รายได้ดอกเบี้ยหด แต่ตัวไหนยังปันผลเด่น เช็กเลย!

4 โบรกเก็งงบ "แบงก์" ไตรมาส 2/68 กำไรวูบ-รายได้ดอกเบี้ยหด แต่ตัวไหนยังปันผลเด่น เช็กเลย!
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2568 ( 09:51 )
24

ภาษี “ทรัมป์” พ่นพิษส่งผลระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว สะท้อนจากภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1/2568 หดตัวอยู่ที่ -1.3% เป็นการหดตัวติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3  โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หดตัว -5.5% 

ส่วนสินเชื่อรายย่อยพบว่า พบว่า สินเชื่อเช่าซื้อหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -10.2% จากไตรมาสก่อน -9.9% มาจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนบัตรเครดิตหดตัว -1.9% มาจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ลดลง ด้านสินเชื่อบ้านขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 0.2% ในกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท
 
ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.78% มาจากปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และฐานสินเชื่อหดตัวในบางประเภทสินเชื่อ โดยธุรกิจเอสเอ็มอีหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นทุกเซ็กเตอร์อยู่ที่ 7.35% จากเดิม 6.88%  

ส่วนหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย พบว่าปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.20% มาอยู่ที่ 3.35% โดยสินเชื่อบ้านหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 3.88% มาอยู่ที่ 4.10% ในกลุ่มราคาบ้านสูงกว่า 5 ล้านบาทมากขึ้น ส่วนหนี้เสียสินเชื่อเช่าซื้อปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.17% เป็น 2.20%
 
สำหรับสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ภาพรวมปรับลดลงจาก 6.98% มาอยู่ที่ 6.97% สะท้อนสัญญาณที่ดีขึ้น โดยธุรกิจรายใหญ่ปรับลดลง เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้ ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีปรับเพิ่มขึ้นจาก 12.81% เป็น 13.27% เป็นผลมาจากธนาคารมีการจัดชั้นเชิงคุณภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจรายย่อยปรับเพิ่มขึ้นจาก 8.01% เป็น 8.06% มาจากสินเชื่อบ้าน  

สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า เงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิของธนาคารพาณิชย์ 17 แห่ง ณ สิ้นเดือนพ.ค. อยู่ที่ 13.68 ล้านล้านบาท ลดลง 1.3% YoY ซึ่งติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2567 สะท้อนแรงกดดันจากการชำระคืนหนี้ ประกอบกับธนาคารยังคงพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวังต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/68 มากน้อยแค่ไหน และแนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปีจะเป็นอย่างไร หุ้นแบงก์ตัวไหนที่ยังน่าลงทุนจ่ายปันผลแจ่ม ในวันนี้  TNN Online พาไปไขคำตอบจากกูรูกันค่ะ

เริ่มจาก “นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์”  นักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจการเงิน  บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า รายได้ดอกเบี้ยรับที่ลดลง และดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวลงตามดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อชะลอตัวลงทำให้การตั้งสำรองทรงตัว แต่มีความเป็นห่วงว่าการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์อาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจส่งผลให้มีการปรับลดจีดีพีลง และทำให้แบงก์มีความเข้มงวดสินเชื่อ 

ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่กนง.อาจจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก เพื่อช่วยลดผลกระทบ “ทรัมป์” ซึ่งจะส่งต่อรายได้ดอกเบี้ยของแบงก์ลดลง  ประกอบกับธนาคารต่างๆ ปรับสัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อมาเน้นขยายฐานลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น เช่น กลุ่มบริษัทใหญ่ และกลุ่มงานภาครัฐฯ เพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รองรับความเสี่ยงทาง เศรษฐกิจที่คาดจะเริ่มเข้ามากดดันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้( 2H25) 

ดังนั้นคาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารภายใต้ Coverage ทั้ง7 แห่ง (BBL,KBANK ,KKP,  KTB ,SCB ,TISCO  ,TTB ) มีกำไรสุทธิรวมใน 2Q25 จำนวน 53,044 ล้านบาท ทรงตัว YoY แต่ลดลง 9.2% QoQ   

ขณะที่สินเชื่อรวมของกลุ่มคาดปรับลง 1.5% YoY และ 0.4% QoQ เพราะธนาคารคงความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อ ทั้งนี้ปัจจัยลบต่างๆ บางส่วนคาดถูก บรรเทาลงด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายดาเนินงาน คาดลดลง 0.6% QoQ และการลดลงของค่าใช้จ่ายตั้ง สำรองอีก 4.9% QoQ เพราะหลายธนาคารเร่งตั้งสำรองไปมากใน 1Q25 ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ใน ภาพรวมคาดยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล

ซึ่งหากประเมินกลุ่มธนาคารใหญ่ภาพรวมคาดว่ากำไรสุทธิ 2Q25 ที่ 45,455 ล้านบาท ทรงตัว YoY แต่ลดลง 10.2% QoQ โดยธนาคารที่ผลดำเนินงานเด่นที่สุดจะเป็น SCB คาดกำไรสุทธิ 11,500 ล้านบาท +14.8% YoY, -8.0% QoQ) จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลงจากปีก่อน หลังขายหุ้นบริษัท Purple Venture ออกไปหมด และคาดการ ตั้งสำรองทยอยปรับตัวลง หลัง CardX สามารถติดตามหนี้ได้ดีขึ้น

 รองลงมาคือ KTB คาดกำไรสุทธิ 10,673 ล้านบาท ( -4.7% YoY, -8.9% QoQ) มีปัจจัยชดเชยจากสินเชื่อรวมที่ขยายตัวได้ 1.4% QoQ สวนทาง กับธนาคารอื่น หลังสินเชื่อโครงการรัฐฯ กลับมาปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การตั้งสำรองคาดทยอยปรับตัวลง สอด รับกับฐานลูกหนี้ที่มีสัดส่วนลูกหนี้ความเสี่ยงต่ำมากขึ้นเรื่อยๆ

 ส่วน KBANK คาดกำ ไรสุทธิ 12,353 ล้านบาท -2.4% YoY, -10.4% QoQ  คาดสำรองขยับขึ้นเล็กน้อย เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ อีกทั้งถูกกดดันจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่คาดชะลอตัวตามสินเชื่อรวมปรับลงราว 0.8% QoQ

ฝั่ง BBL คาดกำไรชะลอลงมากที่สุด  โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,930  ล้านบาท  -7.4% YoY, -13.4% QoQ  จากฐานสูง ใน 1Q25 ที่มีการขายทำกำไรตราสารหนี้มากกว่าปกติ ขณะที่ใน 2Q25 รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ ค่าธรรมเนียมคาดชะลอตัวลง หลังธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

ฝั่งธนาคารขนาดกลาง-เล็ก คาดว่ากำไรสุทธิรวม 7,589 ล้านบาท  ลดลง 3.7% YoY และ 2.7% QoQ กดดันจาก ยอดขายยานยนต์และภาวะหนี้เสียของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยประเมินว่ามีเพียง KKP ที่กำไรจะกลับมาโต (คาดกำไรสุทธิ 1,190 ล้านบาท +54.8% YoY, +12.1% QoQ) จากฐานต่ำใน 1Q25 ที่มีการตั้ง สำรองสูงรองรับลูกหนี้ที่ค้างชำระมากขึ้น ขณะที่ใน 2Q25 คาดสำรองปรับตัวลง รวมถึงได้อานิสงส์บวก จากผลขาดทุนจากการขายรถยึดที่ปรับตัวลง 

TTB (คาดกำไรสุทธิ 4,853 ล้านบาท  -9.4% YoY, -4.8% QoQ) และ TISCO (คาดกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท   -11.8% YoY, -6.0% QoQ) ถูกกดดันจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือ หนึ่งที่ชะลอตัว

โดยได้ปรับลดประมาณการกำไรของ KKP ลง 7.6% และ TISCO ลง 7.9% เพื่อสะท้อนถึงการ เติบโตของสินเชื่อที่ทำ ได้ต่ำกว่าคาด และการตั้งสำรองที่เร่งตัวขึ้น รวมถึง NIM ที่ชะลอตัวลงจากประมาณ การเดิมของเรา ส่วนธนาคารอื่นเรายังคงประมาณการไว้เช่นเดิม 

สำหรับแนวโน้มครึ่งหลังของปีนี้คาดกำไรสุทธิของกลุ่มจะทรงตัว YoY แต่ลดลงหากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก จากผลของปัจจัยฤดูกาล โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่จะเร่งตัวขึ้น จากค่าใช้จ่ายลงทุนพัฒนาระบบให้บริการต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิปรับตัวลง ส่วนการตั้งสำรองเรายังคงมุมมองเชิงบวกและคาดยังสามารถทยอยปรับลดลงได้เล็กน้อย เพราะธนาคาร เร่งตั้งสำ รองพิเศษ (Management Overlay) มาหลายไตรมาส หนุนให้ทั้งปีคาดกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคาร ในปี 2025 ที่ 217,277 ล้านบาทเติบโต 1.3% YoY

ทั้งนี้คงให้น้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” แม้แนวโน้มผลดำ เนินงานชะลอตัวลง แต่ยังอยู่ใน ระดับที่ไม่น่ากังวล อีกทั้งคาดเงินปันผลของทั้งปียังโดดเด่น  

โดยหุ้น Top Pick แนะนำ TTB (TP@2.12) จากความต่อเนื่องของ Capital Return (เงินปันผล + ซื้อหุ้นคืน) สูงที่ 10.7% สูงที่สุดในอุตสาหกรรม และคาดให้เงินปันผลระหว่างกาลคิดเป็น Dividend Yield  ที่ 3% ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่แข็งแรง อีกทั้งคาดเป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบ จากดอกเบี้ยขาลงน้อยกว่าธนาคารใหญ่ และมีลูกหนี้บริษัทใหญ่ไม่มาก ทำให้ความเสี่ยงที่จะต้องเร่งสำรองในช่วงสั้น ๆ ค่อนข้างต่ำ

 

ขณะที่ "ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ"  รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส  ฉายภาพว่า  ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดสินเชื่อจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้รายได้ของธนาคารลดลง  ดังนั้นคาดว่าธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง กำไรสุทธิไตรมาส 2 อยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 5% QoQ จากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ M-Rate ช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับทิศทางสินเชื่อกลุ่มฯ ลดลง 1% QoQ (-1.5% YTD)  

โดยกำไรสุทธิลดลง QoQ ตามวงจรดอกเบี้ย ( TISCO เพราะ Credit cost ขึ้น) มีเพียง BAY (คาด Credit cost ลด) และ KKP (จาก FVTPL หลังงวดก่อนมีฐานต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต) ที่กำไรสุทธิมีโอกาสเติบโต QoQ  แต่ถ้าเทียบกำไรสุทธิกลุ่มฯ เชิง YoY เติบโต 2% เพราะ Credit cost มีแนวโน้มต่ำลง YoY จากฐาน Credit cost สูงในปีก่อน โดย KKP มีอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิสูงสุดจากฐานกำไรต่ำปีก่อน และตามด้วย SCB หลังทิศทางการตั้งสำรองลดลง  

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ คาด NPL  ณ สิ้นงวด 2Q68 เพิ่มมาที่ 3.8% จาก 3.7% ณ สิ้นงวดก่อน (สิ้นปี 2567 ที่ 3.6%) หลักๆ มาจากฐาน สินเชื่อต่ำลง ส่วนมูลหนี้ NPL ขยับขึ้น 1% QoQ

 อย่างไรก็ตาม หากงบไตรมาส 2 เป็นไปตามคาด จะทำให้กำไรสุทธิครึ่งปีแรกของปีนี้อยู่ที่ 1.29 แสนล้านบาท (+3% YoY) คิดเป็นสัดส่วน 53% ของประมาณการ กำไรทั้งปีฝ่ายวิจัยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ทรงตัว YoY  และ 54% ของ Bloomberg Consensus  มองว่าแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี (2H68)  รายได้ดอกเบี้ยรับจะลดลง  ตามดอกเบี้ยนโยบายที่ยังมีโอกาสลงต่อ ขณะที่ Credit cost  สูงจากความเสี่ยงลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น จากนโยบายการค้าสหรัฐฯ  ซึ่งจะกระทบกับภาคการผลิต เป็นหลัก

ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกยังมีความไม่แน่นอน เพราะภาษีการค้าสหรัฐฯ อาจสร้างความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ (รายใหญ่ + SME) ของแต่ละธนาคาร ทั้งที่อยู่ในภาคการส่งออก หรือ ขายสินค้าในประเทศก็ตาม (จากสินค้าราคาถูกจีน ถูกนำเข้ามาขายในไทย) ทำให้สินเชื่อภาคการผลิตและการพาณิชย์ จะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้ม Credit risk สูงขึ้นในระยะข้างหน้า โดยธนาคารพาณิชย์ ที่มีสัดส่วนสินเชื่อในกลุ่มนี้สูง 3 อันดับแรก ได้แก่ KBANK ,SCB และ BBL

ภายใต้ความเสี่ยงข้างต้น ในมุมฝ่ายวิจัยมองว่าธนาคารพาณิชย์ ที่มีระดับ Coverage ratio สูง อย่าง BBL และ KTB น่าจะรับมือ กับแรงกดดันได้ดีกว่ากลุ่มฯ และหากนำสัดส่วนสินเชื่อแยกรายอุตสาหกรรม มาประกอบการพิจารณา ประเมินว่า KTB ซึ่งมีสินเชื่อภาคการผลิตฯ ต่ำกว่ากลุ่มฯ และ Coverage ratio สูง ดูได้เปรียบกลุ่มฯ ในทางตรงข้าม KBANK ที่มีสัดส่วนสินเชื่อภาคการผลิตฯ สูงสุดในกลุ่มฯ (และสัดส่วนสินเชื่อ SME สูงสุดในกลุ่มฯ) รวมถึง Coverage ratio น้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ใหญ่อื่น ๆ  ทำให้การรักษาระดับ Credit cost ให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1.4% - 1.6% (ปี 2567 ที่ 1.9% และ สมมติฐานฝ่ายวิจัยปี 2568 ที่ 1.8%) ค่อนข้างท้าทาย 

โดยการวิเคราะห์ความอ่อนไหว( Sensitivity Analysis) ทุก 1% ของสินเชื่อภาคการผลิตฯ ที่ไหลตกชั้นเป็น NPL และกำหนดสมมติฐานการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือ ECL ที่ 50% ของมูลหนี้ที่ไหลตกชั้นเป็น NPL พบว่า KBANK จะมีภาระการตั้งประมาณ 5.2 พันล้านบาท ตามด้วย BBL   3.6 พันล้านบาท SCB ประมาณ 3.3 พันล้านบาท KTB 2.6 พันล้านบาท และ TTB ที่ 1.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้แม้ว่าเมฆหมอกดูปกคลุมกลุ่มฯ แต่ภาพดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ ภายใต้ระดับเงินกองทุน Tier-1 ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. พอควร   เปิดทางให้กลุ่มฯ สามารถบริหารโครงสร้างเงินทุน ผ่านการเพิ่มนโยบายปันผล รวมถึงการซื้อหุ้นคืน (KKPTTB ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว

 ส่วน KTB และ KBANK อยู่ระหว่างการพิจารณา)โดยแม้ปกติแล้ว การจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งแรกของปี (1H68F)  จะไม่สูงเท่าครึ่งปีหลัง แต่เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ใน SET ที่ส่วนใหญ่แล้วจ่ายปันผลปีละครั้ง มองว่าการเข้าสู่ฤดูกาลการจ่ายปันผลระหว่างกาลยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนราคาหุ้นในกลุ่มฯ ระยะถัดไป ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดเงินปันผลต่อหุ้นงวดครึ่งปีแรก ใกล้เคียงกับรอบเดียวกันปีก่อน หากเป็นไปตามคาดการณ์ TTB จะเด่นสุดในรอบปันผลระหว่างกาล จาก Div Yield งวด 1H68F ที่ 3.4% สูงสุดในกลุ่มฯ

 

ฝั่ง "บล.บัวหลวง" ประเมินกำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคาร (7แห่ง) ไตรมาส 2/68 จะอยู่ที่ 5.01 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% YoY และ ลดลง 14% QoQ  เนื่องจากเผชิญความท้าทายจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงและ NIM ที่ลดลงในครึ่งหลังของปี 2568 ดังนั้น จึงเห็นความเสี่ยงของการปรับลดประมาณการกำไรของตลาด

โดยธนาคารที่กำไรสุทธิลดลง YoY ในไตรมาสนี้ ได้แก่ BBL (ลดลง 15% YoY; NIM ลดลงและค่าใช้จ่ายในการดาเนินงานสูงขึ้น) TISCO (ลดลง 10% YoY ส่วน NIM ลดลงและการตั้งสารองหนี้ฯ เพิ่มขึ้น) KTB (ลดลง 10% YoY ขณะที่ NIM ลดลง) KBANK (ลดลง 9% YoY  สินเชื่อลดลง NIM ลดลง และ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น) และ TTB (ลดลง 8% YoY สินเชื่อลดลง  NIM ลดลง และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น)

ในทางตรงกันข้ามคาดว่า KKP จะเป็นผู้นำการเติบโตของกำไรสุทธิ YoYในไตรมาส 2/68 ที่ 57% (จากฐานที่ต่าในไตรมาส 2/67 ขาดทุนจากการขายรถยึดที่ลดลง และการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง) รองลงมาคือ SCB เพิ่มขึ้น6% YoY (จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการตั้งสำรองที่ลดลง)

ซึ่งประเมินว่าอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของกลุ่มธนาคารที่เราให้คำแนะนำจะ เพิ่มขึ้นจาก 3.01% ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2568 มาอยู่ที่ 3.07% ณ สิ้นเดือน มิ.ย. นำโดย BBL (ซึ่งลูกค้าบางส่วนในโครงการปรับโครงสร้างหนี้มีแนวโน้มถูกปรับสถานะจากสินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษกลับมาเป็นหนี้เสีย ซึ่งเป็นไปตามที่ธนาคารคาดอยู่แล้ว) TTB,  KKP และ TISCO สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ทั่วถึงและเราคาดว่าอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อของกลุ่มธนาคารจะลดลงจาก 189.4% ณ สิ้นเดือน มี.ค. เหลือ 186.8% ณ สิ้นเดือน มิ.ย.

โดยความเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568  เพิ่มขึ้น ดังนั้นคาดกำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 3/68 จะอยู่ที่ 4.75 หมื่นล้านบาท   ลดลง 13% YoY และ 5% QoQ เนื่องจาก NIM ที่ลดลง และการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น QoQ   

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า GDP ไทยปี 2568 จะเติบโตเพียง 1.4% YoY ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจไทยน่าจะชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี 2568 มากกว่าครึ่งแรกของปี 2568 จากการส่งออกที่ลดลง และจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจต่ำกว่าคาด ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคารที่เราให้คำแนะนำมีแนวโน้มอ่อนแอลงในครึ่งหลังของปี 2568 

ซึ่งทั้งปี 2568  คาดกำไรอยู่ที่ 1.996 แสนล้านบาท ลดลง 7% YoY โดยมีแรงกดดันหลักจาก NIM เฉลี่ยที่ลดลงเหลือ 3.14% ลดลง 30bps YoY ประมาณการกาไรสุทธิรวมปัจจุบันของเราต่ำกว่าตลาดคาด 6% ซึ่งเรามองว่าอาจมีความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับลดประมาณการลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ BBL เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่จำนวนมาก และ KTB เนื่องจากสินเชื่อภาครัฐสูง ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่ม sme และรายย่อย   ขณะที่ loan loss coverage ratio  สูงกว่าแบงก์อื่น โดย BBL อยู่ที่ 300.3% KTB อยู่ที่ 182.3% ค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารอยู่ที่  189.4%  

ปิดท้าย  บล.กรุงศรี คาดธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง กำไรสุทธิไตรมาส 2/68 อยู่ที่ 5.15 หมื่นล้านบาท ลดลง -4% y-y และ -12% q-q เพราะ 1. รายได้ดอกเบี้ย (NII) ลดลง -8%y-y และ -3%  q-q จาก NIM ที่ 2.89% ลดลงจาก 2Q24 ที่ 3.15% และ 1Q25 ที่ 2.97% จากการปรับลดลงของ yield on loan จากดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลง การขยายสินเชื่อไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ และการลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ในโครงการ คุณสู้ เราช่วย 

นอกจากนั้นสินเชื่อรวมลดลง  -0.3% q-q คิดเป็น -0.9% YTD จากสินเชื่อธุรกิจ SME และรายย่อย 2. รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) ลดลง -3% q-q จากการลดลงของเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมด้านตลาดทุน 3. ค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) เพิ่มขึ้น +2% q-q จากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง NPL ratio ที่ 3.76% เพิ่มขึ้นจาก 3.68% ใน 1Q25 

ทั้งนี้เห็นว่าธนาคารคงปันผลระดับสูง dividend yield คาดที่ 6-9% ต่อปี ภาพรวมปี 2025F เรามองการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) และหนี้เสีย (NPL) เป็นประเด็นหลัก โดยคาดว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นระดับที่ธนาคารยังสามารถควบคุมได้  โดยเราคง   KBANK และ KTB เป็น Top Pick      

ส่วนผลประกอบการทั้งปีคาดกำไรสุทธิปีอยู่ที่ 2.04 แสนล้านบาท ลดลง -5% y-y กดดันหลักจากรายได้ดอกเบี้ย (NII) ทั้งการลดลงของ NIM จากเราคาดดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ลง 3 รอบ รอบละ 0.25% เหลือ 1.50% การขยายไปกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ และการลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ในโครงการ คุณสู้ เราช่วย ส่วนสินเชื่อรวมคาดหดตัว -0.4% y-y จากธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และเน้นการปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มที่มีคุณภาพ

แม้ว่าสินเชื่อธนาคารจะลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร แต่หุ้นกลุ่มแบงก์ก็ยังเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการลงทุนในกิจการที่มั่นคงในภาวะทึ่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงอย่างในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่ดีต่อเนื่องด้วย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้.....

ข่าวที่เกี่ยวข้อง