รีเซต

"ดาวอังคาร" เข้าใกล้โลกที่สุด 12 มกราคมนี้ เห็นสีส้มแดงบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าได้ด้วยตาเปล่า

"ดาวอังคาร" เข้าใกล้โลกที่สุด 12 มกราคมนี้ เห็นสีส้มแดงบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าได้ด้วยตาเปล่า
TNN ช่อง16
8 มกราคม 2568 ( 16:24 )
17

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) เผยว่า "ดาวอังคาร" เข้าใกล้โลกที่สุด 12 มกราคมนี้ โดยจะสามารถสังเกตเป็นวัตถุบนท้องฟ้าสว่างสีส้มแดงบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า 


การสังเกตปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลก

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อดาวอังคารโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ที่ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร ซึ่งผู้สังเกตจะสามารถเห็นเป็นดาวสว่างสีส้มแดงบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า และถ้าหากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่า ขึ้นไป จะสามารถเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวบริเวณขั้วของดาวอังคารได้อีกด้วย


นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ อธิบายว่า ประชาชนสามารถสังเกตดาวอังคารได้ในช่วงระหว่างวันที่ 12 - 16 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุด ซึ่งตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป จะสามารถสังเกตดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน ก่อนที่ดาวอังคารจะเริ่มโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 16 มกราคม




ปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกครั้งถัดไปเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ทั้งนี้ ดาวอังคารไม่ได้เข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์พอดีเหมือนดาวพฤหัสบดี หรือดาวเสาร์ เนื่องจากเส้นทางวงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรี จึงทำให้วันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดนั้นไม่ใช่วันเดียวกันกับที่ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ แต่เคลื่อนกันเล็กน้อย โดยดาวอังคารจะเคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งนี้ทุก ๆ 26 เดือน และจะโคจรมาใกล้โลกในครั้งถัดไปวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2027 หรืออีกประมาณ 2 ปี ต่อจากนี้


ผู้ที่สนใจสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า หรือใช้กล้องโทรทรรศน์เพื่อสังเกตการณ์ หรือรับชมผ่านถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รวมสังเกตการณ์ผ่านจุดสังเกตการณ์หลักของ NARIT ทั้ง 5 แห่ง ในคืนวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม ระหว่างเวลา 18:00 - 22:00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 


  1. 1. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ โทร. 084-0882261
  2. 2. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489
  3. 3. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น โทร. 063-8921854
  4. 4. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
  5. 5. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา โทร. 095-1450411


ข้อมูลและภาพ NARIT, Bluedharma - Flickr

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง