รีเซต

หมาก ยาเสพติดให้ประโยชน์ กับประโยชน์ในสถานการณ์โควิดปัจจุบัน

หมาก ยาเสพติดให้ประโยชน์  กับประโยชน์ในสถานการณ์โควิดปัจจุบัน
TrueID
24 สิงหาคม 2564 ( 13:48 )
1K
หมาก ยาเสพติดให้ประโยชน์  กับประโยชน์ในสถานการณ์โควิดปัจจุบัน

จากสถานการณ์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19ในปัจจุบัน ได้มีการนำสมุนไพรไทยหลายตัวมาใช้รักษาอาการของผู้ติดเชื้อซึ่งก็ช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยได้ค่อยข้างดี สมุนไพรไทยตัวหนึ่งที่ขึ้นชื่อเก่าแก่ที่สุด ที่ชื่อว่า "หมาก" ก็มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของคนไทยในสมัยโบราณ และ “หมาก” นี่แหละเคยเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยในยุคเก่าก่อนเหมือนตัวเลข GDP ในยุคนี้ ดังคำกล่าวว่า “ข้าวยาก หมากแพง” วันนี้ trueID พาไปรู้จักกับสมุนไพรไทยที่สามารถนำมาเป็นยารักษาอาการต่างๆได้มากมาย

 

หมาก เป็นพืชวงศ์เดียวกับ ตาล มะพร้าว จาก / Cr.เทคโนโลยีชาวบ้าน

 

ถิ่นกำเนิดหมาก

หมากมีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัด แต่มีหลักฐานที่พบจะเชื่อถือได้ว่า มีหนังสือเรื่องหมากเขียนขึ้นในสมัยมาร์โคโปโลและมีผู้ค้นพบหนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1593(พ.ศ.2136) โดยให้ชื่อต้นหมากป่าที่พบว่า พินลาง (Pinlang)

 

ซึ่งคำนี้เป็นชื่อเรียกต้นหมาก ในแหลมมลายูและสุมาตราในปัจจุบัน ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า หมากมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และในปัจจุบันก็ยังสามารถพบได้ในเขตร้อนหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก

 

รวมถึงบางส่วนของทวีปแอฟริกา เช่นประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย สำหรับประเทศไทย สันนิษฐานกันว่าการปลูกหมากคงจะมีการปลูกนานกว่า 700 ปีมาแล้ว ทั่งนี้เพราะในสมัยกรุงสุโขทัย ได้มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการปลูกหมากเกิดขึ้นแล้วในสมัยนั้น ซึ่งได้แก่ หลักศิลาจารึก หลักที่ 1 เรียกผลไม้ว่า หมาก ทั้งสิ้น เช่น หมากขาม (มะขาม) หมากม่วง (มะม่วง) หมากพร้าว (มะพร้าว) หมากกลาง (ขนุน) หมากสั้น หมากหวาน และในศิลาจารึกหลักเดียวกัน ยังแปลความว่า ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว รสหวาน

 

ถ้าเราเป็นคนช่างสังเกตสักหน่อยจะเห็นคำว่า มะ ที่ส่วนมากคนไทยมักนำมาใช้หน้าชื่อผลไม้ไทยๆ เช่น มะม่วง มะไฟ มะยม เป็นต้น มีคนบอกว่า มะ แปลว่าผลไม้ที่กลายมาจากคำว่า หมาก

 

ผู้ที่มีฐานะดีๆ จะมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการกินหมากที่สวยงาม / Cr.เทคโนโลยีชาวบ้าน

 

ประโยชน์และสรรพคุณหมาก

“หมาก” มีดีอะไร ในปัจจุบันมีข้อมูลของบีบีซีระบุว่ามีผู้บริโภคราว 10% ของโลกหรือเกือบ 700 ล้านคน ยังนิยมชมชอบเสพหมากทั้งในดินแดนอุษาคเนย์(ยกเว้นไทย) เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ตอนใต้ ทั้งที่หมากก็ไม่ใช่ผลไม้ ไม่ใช่พืชผักที่กินเป็นอาหาร ผลการทดลองพบว่า แค่เคี้ยวหมากหนึ่งคำ ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวเท่ากับดื่มเอสเพรสโซ่ 6 ช็อตเลยทีเดียว นอกจากทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว หมากยังมีสรรพคุณอีกหลายอย่างดังต่อไปนี้

  1. เป็นยาสมานแผล
  2. เป็นยาขับพยาธิในสัตว์
  3. แก้ท้องเดิน ท้องเสีย
  4. ช่วยขับพิษ
  5. ทาแก้คัน
  6. ขับปัสสาวะ
  7. แก้ปากเปื่อย
  8. ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว
  9. ทำให้เหงือกและฟันแข็งแรง
  10. ยับยั้งการไหลของหนองเวลาเป็นแผล
  11. แก้ปวดแน่นท้อง
  12. เป็นยาเบื่อพยาธิตัวตืด ฆ่าพยาธิบาดแผล
  13. รักษาน้ำกัดเท้า
  14. ช่วยขับน้ำในกระเพาะลำไส้ และช่วยในการย่อยอาหาร
  15. ช่วยลดอาการบวมน้ำ
  16. ช่วยบำรุงธาตุ 

 

หมากอ่อนที่เปลือกยังเขียว คนทางอีสานนิยมกินมากกว่าหมากสุก / Cr.เทคโนโลยีชาวบ้าน

 

วิธีใช้

ใช้เป็นยาแก้โรคเบาหวาน ด้วยการใช้หมากที่กินกับพลูแบบสด 1 ลูก นำมาผ่าเป็น 4 ซีก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือดหรือประมาณ 10 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้วเช้า กลางวัน และเย็น เมื่อนำตาลในเลือดลดลงก็ให้นำมาต้มดื่มแบบวันเว้นวันได้ 

 

แก้พิษผิดสำแดงโดยใช้ รากหมากใช้ผสมกับรากมะพร้าว รากมะกอก รากมะปรางเปรี้ยว รากมะปรางหวาน ลูกกระจับน้ำ ลูกบัวหลวง เกสรบัวหลวง และหัวแห้วต้มกิน 

 

รากหมากนำมาต้มกับน้ำเป็นยาแก้พิษร้อนภายใน แก้พิษไข้ร้อน หรือจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินและอาบเป็นยาแก้ไข้ แก้หวัดก็ได้ 

 

ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ  เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ ด้วยการใช้เนื้อในผลหมาก นำมาบดให้เป็นผง โดยใช้ประมาณ 50-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง 

 

เมล็ดเป็นยาสมานทั้งภายนอกและภายใน ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว ด้วยการใช้เมล็ดหรือเนื้อหมากสดนำมาปิดบริเวณบาดแผล 

 

เมล็ดใช้ฝนทารักษาแผลเน่าเปื่อย แผลเป็น ช่วยฆ่าพยาธิบาดแผล ขจัดรอยแผลเป็น 

 

ใช้รักษาหูด ด้วยการใช้ผลดิบ 1 ผล (ผลหมากที่สุกแก่แต่ยับดิบอยู่) นำมาฝานเอาเนื้อในออกมาเป็นชิ้น ๆ เหมือนการเตรียมหมากเพื่อกิน หลังจากนั้นนำไปย่างไฟให้ร้อน แล้วรีบนำมาพอกทับปิดที่หัวหูดทันที จะช่วยทำให้หัวหูดหลุดลอกออกมาได้ ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการนำผลหมากมาผ่าเป็น 4 ซัก แล้วใช้ทั้งเปลือกและเนื้อในถูทาบริเวณที่ถูกน้ำกัดเท้าจนเกิดแผลบ่อย ๆ ทุกวัน 

 

หรือหากนำผลหมากสุกมาต้มกินกับน้ำแล้ว จะช่วยป้องกันอาการของโรคต้อหินหรือความดันภายในลูกตาเพื่อไม่ให้สูงผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังสามารถ ช่วยขับปัสสาวะได้อีกด้วย

 

ข้อควรระวัง

  1. การเคี้ยวหมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี อาจก่อให้เกิดมะเร็งในช่องปากได้
  2. สาร Arecoline ที่พบในเมล็ดหมาก มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของหัวใจ แรงดันโลหิต ปริมาณของน้ำตาลกลูโคสในสมองดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้
  3. ในการใช้หมากเพื่อต้องการสรรพคุณทางยานั้นควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ถ้าเป็นเนื้อในผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม ส่วนเปลือกผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-20 กรัม ถ้าใช้เป็นยาขับถ่ายพยาธิ ให้ใช้เนื้อผลได้ถึง 50-80 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินตอนท้องว่างหรือบดเป็นผงกิน และไม่ควรใช้เกินขนาดที่ระบุ รวมถึงใช้เป็นระยะเวลานานจนเกินไป

 

 

ข้อมูล : มูลนิธิสุขภาพไทย , เทคโนโลยีชาวบ้าน

ภาพโดย lotus digitals จาก Pixabay 

เอกสารอ้างอิง

  1. วิทยา บุญวรพัฒน์.  “หมาก”.  หน้า 612.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.
  2. การปลูกหมากเพื่อการค้า.เอกสารวิชาการ.กลุ่มไม้ยืนต้นอุตสาหกรรมกองส่งเสริมพืชสวน.กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.55 หน้า
  3. ฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของตัวรับบนเมล็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลของเมล็ดหมากแก่.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.  “หมาก (Mak)”.  หน้า 328.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. 
  5. หมาก.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=143

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง