รีเซต

สศอ.หั่นเป้าเอ็มพีไอปีนี้เหลือโต 2-3% จีดีพีอุตฯ คาดโต 2.5-3.5% ปลอบศก.ชะลอตัวระยะสั้น

สศอ.หั่นเป้าเอ็มพีไอปีนี้เหลือโต 2-3% จีดีพีอุตฯ คาดโต 2.5-3.5% ปลอบศก.ชะลอตัวระยะสั้น
ข่าวสด
25 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:01 )
41

สศอ.หั่นเป้าเอ็มพีไอปีนี้เหลือโต 2-3% จีดีพีอุตฯ คาดโต 2.5-3.5% ปลอบศก.ชะลอตัวระยะสั้น หวังการฉีดวัคซีนสร้างความเชื่อมั่น

 

สศอ.หั่นเป้าเอ็มพีไอ - นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ปรับประมาณการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ปี 2564 ขยายตัว 2-3% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 4-5% ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมคาดจะขยายตัว 2.5-3.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 4-5%

 

ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ลงอยู่ที่ 2.5-3.5% จากเดิมคาดโต 3.5-4.5% หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ อีกทั้งประชาชนยังไม่มั่นใจในแผนการบริหารจัดการและกระจายวัคซีนของภาครัฐ

 

ขณะเดียวกัน เอ็มพีไอเดือนม.ค. 2564 ยังหดตัว 2.8% มาอยู่ที่ระดับ 101.82 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 104.75 เนื่องจากยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลต่อเนื่องมายังเดือนม.ค. 2564 ทำให้ภาครัฐต้องกำหนดพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดตามความรุนแรงของสถานการณ์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว ทั้งการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลดลง เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น

 

“แต่สศอ. มองว่าภาคอุตสาหกรรมอาจขยายตัวได้มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในประเทศและหลายประเทศทั่วโลกมีประสิทธิภาพหรือไม่ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค เห็นได้จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองและรายการพิเศษเดือนม.ค. 2564 ขยายตัว 8.22% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงที่สุดในรอบ 29 เดือน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น”

 

นายทองชัย กล่าวว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนม.ค. 2564 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 66.41% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 63.16% สะท้อนเอ็มพีไอกลับมามีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นในการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ล็อตแรกได้จัดส่งถึงประเทศไทยแล้ว และจะเริ่มฉีดเข็มแรกโดยเร็วที่สุด ตามแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19

 

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการเรารักกัน ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม รัฐควรทำเรื่องพาสปอร์ตวัคซีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยง่ายขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก หลังรัฐบาลผ่อนคลายกิจกรรมในพื้นที่ควบคุม เช่น ร้านอาหารเปิดบริการได้ตามปกติ สถานบันเทิง ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น

 

นายทองชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้าการลงทุนกับเมียนมา โดยเฉพาะประเด็นความไม่แน่นอนของนโยบายซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและกำลังซื้อของประชาชนในเมียนมาที่จะลดน้อยลง ส่วนผลกระทบด้านการค้าชายแดน น่าจะได้รับผลกระทบชั่วคราวในระยะสั้น จากความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม การหยุดงาน หรือการปิดบริษัทห้างร้านต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง