รีเซต

ทีมนักวิจัยเผยที่มาของเชื้อกาฬโรค พบการระบาดครั้งแรกแถบเอเชียกลางในอดีต

ทีมนักวิจัยเผยที่มาของเชื้อกาฬโรค พบการระบาดครั้งแรกแถบเอเชียกลางในอดีต
TNN ช่อง16
18 มิถุนายน 2565 ( 18:33 )
141
ทีมนักวิจัยเผยที่มาของเชื้อกาฬโรค พบการระบาดครั้งแรกแถบเอเชียกลางในอดีต

กาฬโรคคร่าชีวิตประชากรของยุโรปไปมากกว่า 30% และยังทำให้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกล้มตายในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 โรคชนิดนี้ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์เคยเผชิญมา อันตรายกว่าโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 6.31 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าโรคระบาดนี้มีจุดเริ่มต้นเมื่อไร และมีที่มาอย่างไร จนกระทั่งในที่สุด ทีมสืบสวนจากหลายประเทศอ้างว่าพวกเขาได้ค้นพบต้นกำเนิดที่แท้จริงของกาฬโรคแล้ว


ประมาณ 140 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีพบป้ายหลุมศพที่มีข้อความจารึกด้วยภาษาซีเรีย ระบุว่าบุคคลที่ถูกฝังอยู่ในหลุมฝังศพนั้น เสียชีวิตด้วยโรคระบาดที่ไม่สามารถระบุได้ และในงานวิจัยล่าสุด มีการรวบรวมและศึกษาตัวอย่างดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณจาก 2 พื้นที่ ที่มีการค้นพบแผ่นจารึกสาเหตุการเสียชีวิตจากกาฬโรค และข้อมูลที่ได้จากตัวอย่างดีเอ็นเอเหล่านี้ ก็สามารถทำให้พวกเขาสรุปสมมุติฐานเก่ียวกับที่มาของกาฬโรคได้ในที่สุด


ต้นตอของกาฬโรคนั้น เกิดขึ้นจากมนุษย์ที่ติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากหนูป่า ปัจจุบันยังมีการวินิจฉัยและตรวจพบว่ามีผู้ที่ติดโรคอยู่ และสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่การกลายพันธุ์ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งหลังเกิดโรคระบาด และวิวัฒนาการของเชื้อแบคทีเรีย  Yersinia Pestis เชื้อโรคต้นตอกาฬโรค  ซึ่งทำให้เกิดความสับสนถึงต้นกำเนิดของโรคชนิดนี้

ในอดีตที่ผ่านมา นักวิจัยได้ค้นพบรหัสพันธุกรรมที่บ่งบอกว่า กาฬโรคอาจเกิดขึ้นระหว่างช่วงศตวรรษที่ 900 ถึง 1300 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดที่สามารถระบุช่วงเวลาที่เกิดการติดเชื้อขึ้นเป็นครั้งแรกได้


ฟิลิป สลาวิน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง (Stirling) หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย เผยว่า 


“กาฬโรคคือโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์รู้จัก คร่าชีวิตประชากรประมาณ 50-60% ของประชากรทั้งหมดของยุโรปตะวันตกและเอเชียในระยะเวลา 7 ปี (1346-1353) ต้นกำเนิดของมันน่าสนใจสำหรับทั้งนักประวัติศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยในศตวรรษที่ 14 แต่จนถึงขณะนี้ ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ถึงต้นกำเนิดทางภูมิศาสตร์ และลำดับเหตุการณ์ของโรคชนิดนี้”


ในระหว่างการศึกษา นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ จากฟันของศพมนุษย์ 7 รายที่เสียชีวิตจากกาฬโรค โดยฟันเหล่านี้ยังมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่ การวิเคราะห์สารพันธุกรรมเผยถึงแบคทีเรีย Yersinia pestis ในบุคคลสามคน และแม้ว่าทีมวิจัยตรวจพบแบคทีเรีย Yersinia pestis ในทั้งสามตัวอย่าง แต่มีข้อมูลทางพันธุกรรมเพียง 2 ศพจาก 3 ศพ ที่มีเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ที่มาของกาฬโรค 


“ฟันมีข้อมูลทางพันธุกรรมเล็กน้อย แต่การรวบรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทำให้รายละเอียดทางพันธุกรรมชัดเจนมากขึ้น และผลการทดสอบของตัวอย่างทำให้เราสามารถระบุตำแหน่งของเชื้อแต่ละตัวบนห่วงโซ่การกลายพันธุ์ได้” ศ.สลาวิน เสริม


ในที่สุด ผลจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอเปิดเผยว่า การเริ่มต้นแพร่ระบาดของกาฬโรค เกิดขึ้นครั้งแรกระหว่างปี 1338 ถึง 1339 ในชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้ทะเลสาบ Issyk Kul แถบเอเชียกลาง (ปัจจุบันคือบริเวณประเทศคีร์กีซสถาน) มาเรีย สไปรู (Maria Spyrou) หัวหน้าทีมวิจัยและนักวิจัยดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยทูบิงเกน (Tübingen) ระบุว่า "เราพบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์โบราณจากคีร์กีซสถานเป็นส่วนสำคัญของการแพร่ระบาด กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เราพบสายพันธุ์แหล่งที่มาของกาฬโรค ทั้งยังทราบปีเริ่มเกิดระบาดที่แน่นอน คือปี 1338”


ทั้งนี้ เหล่านักวิจัยระบุว่า เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ความเสี่ยง และป้องกันการเกิดโรคระบาดใหม่ นักวิทยาศาสตร์ต้องเรียนรู้ภาพรวมของการกลายพันธุ์สำหรับโรคต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด 


และข้อมูลที่ถูกรวบรวมเกี่ยวกับที่มาของโรคในอดีต เช่น กาฬโรค จะช่วยให้เราเข้าใจว่าโรคระบาดข้ามทวีปในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นและแพร่ระบาดอย่างไร นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความรู้ของมนุษย์ เกี่ยวกับประวัติและวิวัฒนาการของโรค


ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com

ที่มาของรูปภาพ Wellcome Library London


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง