รีเซต

เศรษฐกิจไทย ปี63 ดิ่งหนักทุบสถิติรอบ 22ปี เผย ปี64 คาดขยายตัว 3%

เศรษฐกิจไทย ปี63 ดิ่งหนักทุบสถิติรอบ 22ปี เผย ปี64 คาดขยายตัว 3%
ข่าวสด
15 กุมภาพันธ์ 2564 ( 13:33 )
72
เศรษฐกิจไทย ปี63 ดิ่งหนักทุบสถิติรอบ 22ปี เผย ปี64 คาดขยายตัว 3%

เศรษฐกิจไทย ปี2563 ดิ่งหนักทุบสถิติรอบ 22 ปี ขยายตัว -6.1% จากผลกระทบ โควิด-19 ส่วนปี2564 คาดขยายตัว 3% ลดลงจากคาดการณ์เดิม

 

 

วันที่ 15 ก.พ.2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ขยายตัว -6.1% หดตัวกว่าที่ประมาณการรอบล่าสุดที่ -6.0% และเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2552 ที่ขยายตัว -0.7% และหดตัวอย่างหนักในรอบ 22 ปี เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2541 ที่ ขยายตัว -7.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563

 

นายดนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีการปรับประมาณการลง เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% โดยคาดว่า การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 2% การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 5.1% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 10.7% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.8% มูลค่าการส่งออกขยายตัว 5.8% และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 0.32 ล้านล้านบาท

 

 

นายดนุชา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เศรษฐกิจในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีหลัง 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัว 5.2% และ 6.7% ตามลำดับ 2.แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 และมาตรการทางเศรษฐกิจ 3.การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของอุปสงค์ภายในประเทศตามการฟื้นตัวของฐานรายได้ภาคครัวเรือนและธุรกิจ 4.ฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในปี 2563 ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19

 

นายดนุชา กล่าวว่า ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คือ 1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดและความล่าช้าของการกระจายวัคซีน ที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและการส่งมอบที่มีความล่าช้า 2.แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการจำกัดควบคุมการเดินทางนานกว่าที่คาดไว้ 3.ฐานะการเงินและการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน เป็นแรงกดดันการฟื้นตัวจากการจ่ายจ่ายของครัวเรือนที่ชะลอตัว 4.สถานการณ์ภัยแล้ง และ 5.ความผันผวนเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก

 

สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การควบคุมการแพร่ระบาดและป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรง 2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ 3.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว 4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 5.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า 6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 7.การเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว 8.เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และ 9.ติดตามความเสี่ยงจากความผันผวนเศรษฐกิจและการเงินโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง