รีเซต

แพทยศาสตร์ มช. จับมือ IBM ดึง AI ยกระดับบริการ เชื่อมโยงระบบครบวงจร

แพทยศาสตร์ มช. จับมือ IBM ดึง AI ยกระดับบริการ เชื่อมโยงระบบครบวงจร
TNN ช่อง16
14 ธันวาคม 2567 ( 14:29 )
18

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ไอบีเอ็ม (IBM) แถลงความร่วมมือโครงการนําร่องใช้เทคโนโลยี Generative AI สนับสนุนการวินิจฉัย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอัตโนมัติครบวงจร บนพื้นฐานของข้อมูลที่โปร่งใสเชื่อถือได้ ภายใต้ระบบธรรมภิบาล AI (AI Governance) มาตรฐานโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ลดเวลาการรอรับบริการของผู้ป่วย พร้อมสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ด้วยข้อมูลเชิงลึกรอบด้านที่ถูกต้อง แม่นยํา สร้างความมั่นใจ เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษา

ภาพจาก ข่าวประชาสัมพันธ์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์  มช. 

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ดำเนินงานภายใต้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีเตียงผู้ป่วย 1,400  เตียง ที่มุ่งเน้นการเป็นโรงพยาบาลในดวงใจ ด้วยกลยุทธ์การเป็นเลิศด้านบริการผ่านระบบ Digital  Transformation


โครงการความร่วมมือนี้ถือเป็นอีกก้าวความสําเร็จ ต่อเนื่องจากการเปิดตัวห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจรของทางโรงพยาบาลฯ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่เชื่อมโยงกระบวนการไร้รอยต่อ แห่งแรก และแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  


ภาพจาก ข่าวประชาสัมพันธ์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์  มช. 

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ทีม IBM Client Engineering ในการพัฒนาโมเดลด้วย watsonx.data และ watsonx.ai เพื่อสนับสนุนและผนวกการทํางานของระบบปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือแล็บต่าง ๆ เข้าด้วยกันแบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลัง ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการต่าง ๆ และงานวิจัยทางการแพทย์ เพื่อวิเคราะห์เชิงลึกและเป็นข้อมูลประกอบสนับสนุนการวินิจฉัยของแพทย์ และเอื้อให้แพทย์สามารถส่งคําสั่งตรวจแล็บเพิ่มเติมได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการป้อนข้อมูลแบบระบบมือ (Manual) นอกจากนี้ ระบบยังสามารถเชื่อมโยงตารางการให้บริการของแล็บอัตโนมัติ พร้อมบริหารจัดการผลตรวจให้พร้อมสําหรับการนัดหมายติดตามอาการของแพทย์ในครั้งต่อไป  


นอกจากระบบดังกล่าวจะลดความผิดพลาดจากการป้อนข้อมูลระบบมือ (Manual) และการส่งต่อข้อมูลข้ามระบบแล้ว ยังเชื่อมโยงการตรวจแล็บต่างๆ อาทิ การตรวจเลือด การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความถี่ในการมาโรงพยาบาลโดยไม่จําเป็น สามารถจัดการการนัดหมาย และการตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ อย่างครบวงจร เพื่อลดเวลาการรอของผู้ป่วยลงได้อย่างมีนัยยะสําคัญ 


ทั้งนี้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นองค์กรนำร่องแห่งแรกในการนําเทคโนโลยีทั้งหมดมาใช้และให้ความสําคัญกับการวางรากฐานของข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ (trusted data) ปราศจากอคติ โดยมองถึงการนําระบบธรรมภิบาล AI มาใช้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นส่วนสําคัญที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความแม่นยําของระบบ AI (trustworthy AI) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยที่ใช้บริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 


ภาพจาก ข่าวประชาสัมพันธ์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์  มช. 

โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้นําร่องการนํา AutoAI มาช่วยสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันบริการผู้ป่วย และการรักษาในอนาคตของทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ มช. โดยช่วยสนับสนุนการเขียนโค้ด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาในการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ รองรับการสนับสนุนการรักษา และการบริการคนไข้ในอนาคต 


รวมถึงแผนงานต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สอดคล้องวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างความเป็นเลิศในการบริการ การรักษา ต่อยอดไปถึงการวิจัยพัฒนา ไม่เพียงแต่ในเชียงใหม่หรือประเทศไทย แต่ยังก้าวนําในระดับอาเซียน เพื่อประสิทธิภาพ คุณภาพ และความพึงพอใจสูงสุดของผู้รับบริการ เทคโนโลยี AI ระดับโลกอย่าง watsonx ถือเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ทั้งในแง่ความน่าเชื่อถือปลอดภัย และโปร่งใสของระบบ  และการให้บริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากลตามนโยบายการก้าวสู่ Digital faculty


ทั้งนี้นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คือการให้ความสําคัญด้าน digital platform กับระบบ AI และข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความเที่ยงตรง และอยู่ในกรอบธรรมาภิบาลด้านการแพทย์ เพราะเป็นสิ่งที่จะสะท้อนผ่านคุณภาพการรักษาและการบริการผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพการบริการและการรักษาให้กับโรงพยาบาลทั้งในไทยและอาเซียนต่อไป


ข้อมูลจาก - กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง