เผยข้อมูล ‘ไวรัสแลงยา’ ติดต่อจากสัตว์สู่คนครั้งแรก ติดเชื้อแล้ว 35 ราย
วันนี้ ( 3 ก.ค. 66 )ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ ถึง ไวรัสแลงยา เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มไวรัสเฮนิปา ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนพบครั้งแรกในชาวไร่จำนวน 35 คน ที่มณฑลซานตง และเหอหนาน ประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565 แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลว่ามีการระบาดนอกพื้นที่
สำหรับไวรัสแลงยา ถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ ต้องจับตามอง เนื่องจากมีข้อมูลวิจัยพบว่า มีการตรวจพบ โปรตีนหนามของเชื้อไวรัสที่สามารถจับกับเซลล์มนุษย์ได้ จึงกังวลว่าอาจจะ ก่อให้เกิด การแพร่ระบาดที่มากขึ้น และมีความคล้ายกับโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ไวรัสแลงยา เป็นไวรัสที่ควรต้องติดตามอยู่ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดจากสัตว์สู่คน และคนสู่คนที่ได้มากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทยได้มีการเตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลกด้วยเทคโนโลยี เมตาจีโนมิกส์ทางคลินิก ซึ่งเป็นการตรวจโรคติดเชื้อที่ยังไม่ทราบสาเหตุ โดยสามารถระบุได้ถึง DNA และ RNA ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม จากสิ่งส่งตรวจ เพื่อตรวจกรอง หรือสืบค้นจุลชีพหรือไวรัสก่อโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเพาะเชื้อได้ยากในห้องปฏิบัติการ โดยสามารถทราบผลใน 24-48 ชั่วโมงเพื่อทันต่อการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคอุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำที่สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชน
ทั้งนี้ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค เตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต. ขณะเดียวกันเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนในการตรวจหาเชื้อโรคอุบัติใหม่ และการลงพื้นที่สุ่มตรวจโรคในพื้นที่ ในกลุ่มสัตว์ที่มีความเสี่ยง และขอให้คณะกรรมการจริยธรรมทางการแพทย์ ย่นระยะเวลาในการตรวจจริยธรรมก่อนทำการวิจัย 6 เดือนเหลือ 1-2 เดือน เพื่อให้สามารถทำการวิจัยหาเชื้อตัวใหม่ได้เร็วขึ้น
ภาพจาก : AFP