รีเซต

นักวิจัยเผยยานสตาร์ชิปสร้างเสียงรบกวนมากพอจะเป็นอันตรายกับนกถึงชีวิต

นักวิจัยเผยยานสตาร์ชิปสร้างเสียงรบกวนมากพอจะเป็นอันตรายกับนกถึงชีวิต
TNN ช่อง16
20 พฤศจิกายน 2567 ( 16:45 )
13

นิวยอร์กไทม์ส (New York Times) เผยแพร่ข่าวอ้างถึงงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริคัม ยัง (Brigham Young University) ว่าการปล่อยยานสตาร์ชิป (Starship) ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) สามารถสร้างคลื่นกระแทกหรือ โซนิกบูม (Sonic boom) ที่ปล่อยเสียงรบกวนสูงถึง 125 เดซิเบล ซึ่งเป็นอันตรายกับนกและเต่าทะเลที่อยู่โดยรอบถึงชีวิตได้ และสร้างผลกระทบกับคนที่อยู่ใกล้ฐานยิงอีกด้วย


รายละเอียดงานวิจัยอ้างผลกระทบจากการปล่อยยานสตาร์ชิป

ในงานวิจัยดังกล่าวได้ทำการทดสอบวัดเสียงรบกวนระหว่างที่สตาร์ชิปทดสอบครั้งที่ 5 โดยติดตั้งเครื่องวัดเสียงรบกวน 8 จุด ตามบริเวณต่าง ๆ เป็นรัศมีรอบฐานยิง 6 ไมล์ หรือประมาณ 9.7 กิโลเมตร และวัดเสียงรบกวนทั้งในระยะการเร่งเครื่องยนต์ปล่อยจรวด หรือบูสเตอร์ (Booster) และระยะขึ้นบิน (Liftoff) ว่ามีเสียงรบกวนดังเท่าใด


ผลจากเครื่องมือทดสอบพบว่า เสียงรบกวนที่เกิดขึ้นจากบูสเตอร์ (Booster) มีความดังสูงสุด 125 เดซิเบล หรือเทียบเท่าการยืนข้างเครื่องบินโบอิง 747 (Boeing 747) ที่ระยะ 200 ฟุต หรือประมาณ 61 เมตร ตอนที่เครื่องบินกำลังขึ้นบิน (takeoff)ส่วนในระยะขึ้นบินของสตาร์ชิป มีเสียงรบกวนดัง 105 เดซิเบล หรือเทียบเท่าเสียงในคอนเสิร์ตวงดนตรีร็อก (Rock) 


ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปล่อยยานสตาร์ชิป

ทั้งนี้ มีบ้านเรือนในเขตเมืองพอร์ต อิซาเบล ที่เป็นเมืองที่ใกล้กับฐานยิงของสเปซเอ็กซ์ เกิดรอยแตกร้าว รวมถึงหน้าต่างแตกเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจาเร็ด ฮอกมา (Jared Hockema) ผู้จัดการเมือง (City Manager - ตำแหน่งเทียบเท่า CEO ในบริษัทเอกชน หรือคล้ายปลัดเทศบาลในไทย) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตมองว่า แม้การมาตั้งฐานยิงของสเปซเอ็กซ์จะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองและการจ้างงาน แต่ก็ควรคำนึงถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย


ในขณะที่เอริค โรช (Eric Roesch) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ใหัสัมภาษณ์กับป๊อบปูลาร์ ไซแอนซ์ (Popular Science) ว่า “การปล่อยยานสตาร์ชิปถือเป็นหายนะสำหรับสัตว์ท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จัดเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครอง” และยกตัวอย่างว่า “เสียงที่ว่านี้จะทำให้ตัวอ่อนนกทุกตัวเสียชีวิตตั้งแต่ยังอยู่ในไข่” 


สตาร์ชิปได้ทดสอบการปล่อยเป็นครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา และการทดสอบครั้งที่ 6 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน เมื่อเวลาประมาณ 16 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับช่วง 5 นาฬิกา ของวันที่ 20 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย ในขณะที่องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) และสเปซเอ็กซ์ ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อข่าวนี้



ข้อมูล New York Times, Popular Science, Wikipedia

ภาพ SpaceX


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง