รีเซต

ไขข้อสงสัยมนุษย์เดินทางข้ามเวลาได้จริงหรือ ? พร้อมคำอธิบายครบ จบในบทความเดียว

ไขข้อสงสัยมนุษย์เดินทางข้ามเวลาได้จริงหรือ ? พร้อมคำอธิบายครบ จบในบทความเดียว
TNN ช่อง16
1 กุมภาพันธ์ 2566 ( 15:47 )
85
ไขข้อสงสัยมนุษย์เดินทางข้ามเวลาได้จริงหรือ ? พร้อมคำอธิบายครบ จบในบทความเดียว

บทนำ

การเดินทางข้ามเวลา (Time Travel) ปรากฏบ่อยครั้งในโลกภาพยนตร์ โดยมีตัวอย่างแรกที่ต้องย้อนไปถึงภาพยนตร์จากยุค 90 อย่าง เจาะเวลาหาอดีต (Back to the Future - 1985, 1989, 1990) ที่เป็นการนำเสนอการเดินทางข้ามเวลาด้วยรถยนต์พิเศษไปยังช่วงเวลาต่าง ๆ


หรือภาพยนตร์เรื่องอเวนเจอร์ส เอนด์เกม (Avengers: Endgame - 2019) ภาพยนตร์ชุดแนวซูเปอร์ฮีโร่ที่เล่าเรื่องการต่อสู้กับธานอส (Thanos) ตัวร้ายที่กวาดล้างสิ่งมีชีวิตไปครึ่งหนึ่งของจักรวาลด้วยการเดินทางข้ามเวลาในโลกคู่ขนาน (Multiverse) เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคต 


และหากต้องการภาพยนตร์การเดินทางข้ามเวลาที่สร้างขึ้นจากทฤษฎีทางฟิสิกส์สุดเหลือเชื่อก็คงหนีไม่พ้น เทเน็ท (TENET - 2020) ที่นำเสนอตัวเอก (The Protagonist) ซึ่งได้รับสารจากอนาคตให้กลับไปช่วยเหลืออดีตที่มีผู้ต้องการทำลายโลกใบนี้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางข้ามเวลาเพื่อทำปฏิบัติการปกป้องโลก


ภาพยนตร์ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ต่างนำเสนอการเดินทางข้ามเวลาที่สามารถเดินทางย้อนไปยังอดีตและกลับไปยังอนาคตได้ คำถามที่ตามมาก็คือ การเดินทางข้ามเวลาที่ปรากฏในภาพยนตร์เหล่านี้จะมีวันที่กลายเป็นความจริงหรือไม่ แล้วการเดินทางย้อนเวลากับเดินทางไปยังเวลาในอนาคต การเดินทางข้ามเวลาแบบใดจะเป็นไปได้มากที่สุด


รูปแบบการเดินทางข้ามเวลา

“การเดินทางข้ามเวลา” เป็นคำที่นิยมใช้เรียกการเดินทางไปยังอดีตหรืออนาคตก็ได้ แต่ว่าเมื่อเจาะลึกรายละเอียดก็พบว่าการเดินทางท่องเวลา (เป็นคำที่จะใช้เรียกต่อจากนี้เพื่อป้องกันความสับสน) นั้นไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว


การเดินทางย้อนเวลาไปยังอดีต

การเดินทางท่องเวลาแบบแรกเป็นการย้อนไปยังอดีตเท่านั้น การเดินทางในรูปแบบนี้มักพบเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางข้ามเวลามากกว่าเดินทางย้อนไปยังอดีตเพียงอย่างเดียว


การเดินทางข้ามเวลาที่ไปอนาคตหรือย้อนอดีตได้

รูปแบบการเดินทางท่องเวลาที่รู้จักกันดีที่สุด หรือที่เรียกกันว่า “การเดินทางข้ามเวลา” ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่สามารถย้อนไปยังอดีต หรือจะเดินทางข้ามไปยังอนาคตก็ได้เช่นกัน และมีทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่รองรับก็คือ ทฤษฎีรูหนอน (Wormhole) ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์อีกทีหนึ่ง


โลกนี้มีหลักฐานการเดินทางข้ามเวลาหรือไม่

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับสมมติฐานการเดินทางข้ามเวลา แต่ก็เคยปรากฏภาพถ่ายปริศนาที่เชื่อกันว่าเป็นหลักฐานว่าการเดินทางข้ามเวลามีอยู่จริง และกลายเป็นประเด็นชวนคิดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ


สมาร์ตโฟนที่อยู่ในภาพวาดปี 1670 ?

หญิงสาวกับจดหมายและชายส่งสารภายในบ้าน (Young Woman with a Letter and a Messenger in an Interior) เป็นภาพวาดสีน้ำมันในปี 1670 ของปีเตอร์ เดอ ฮูช (Pieter de Hooch) จิตรกรชื่อดังในยุคศตวรรษที่ 17 ของเนธอร์แลนด์ โดยเขามีแนวการวาดภาพเน้นไปที่บรรยากาศชีวิตประจำวันและวิถีชีวิตของผู้คนผ่านภาพวาดน้ำมัน ซึ่งรวมไปถึงภาพนี้ด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่อยู่ในมือผู้ชายทางขวาของรูปภาพนั้นไม่ใกล้เคียงกับลักษณะของจดหมาย แต่เหมือนกับสมาร์ตโฟนที่เราเห็นในปัจจุบันมากกว่า โดยอ้างจากลักษณะการถือที่ไม่เหมือนการถือจดหมาย รวมถึงการลงสีที่มีความใกล้เคียงกับสีโทนเข้มเหมือนเวลาหน้าจอโทรศัพท์ปิดอยู่มากกว่าซองจดหมายที่มีสีขาว แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเพื่อเชื่อมโยงว่าการเดินทางข้ามเวลามีอยู่จริงเท่านั้น


ฮิปสเตอร์ในยุค 1941 - ชายผู้มีแฟชั่นล้ำหน้าหรือว่าเป็นนักท่องเวลา ?

ภาพถ่ายปริศนาใบหนึ่งในปี 1941 ถ่ายติดภาพชายคนหนึ่งซึ่งอยู่ทางด้านขวาของรูปภาพในลักษณะการแต่งตัวที่ผิดแปลกไปจากยุคอย่างมาก เพราะชายคนนั้นสวมแว่นตากันแดดและเสื้อที่คล้ายกับเสื้อยืด รวมถึงสวมเสื้อแจ็กเกต ทั้งหมดนี้จึงดูขัดกับการแต่งตัวในปี 1941 หรือยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างมาก จนเชื่อกันว่านี่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าการเดินทางข้ามเวลานั้นมีอยู่จริง


อย่างไรก็ตามมีการโต้แย้งว่าเสื้อยืดตัวดังกล่าวนั้นคล้ายกับเสื้อทีมฮอกกี้มอนทรีออล มารูนส์ (Montreal Maroons) ในช่วงปี 1924 - 1938 และแว่นตากันแดดก็เริ่มแพร่หลายในยุคปี 1940 ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ชายคนนี้จึงอาจจะเป็นเพียงผู้ชายที่มีวิธีการแต่งตัวที่ล้ำสมัยเท่านั้น


ปัจจุบันภาพถ่ายดังกล่าวจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บราลอร์น ไพออเนียร์ (Bralorne Pioneer Museum) ประเทศแคนาดา ในชื่อนิทรรศการ แดร์ พาสต์ ไลฟ์ส เฮียร์ (Their Past Lives Here)


ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับการเดินทางข้ามเวลา


ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์

ทฤษฎีสัมพัทธภาพ เป็นทฤษฎีอันเลื่องชื่อของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ผู้คิดค้นสมการมากมายที่ใช้อธิบายกฎของธรรมชาติ รวมถึงเรื่องของเวลา ผ่านทฤษฎีเกี่ยวกับเวลาที่มีชื่อว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity) ในปี 1915 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างเวลา, ความเร็ว และแสง ซึ่งเป็นการเสนอว่าการเดินทางด้วยความเร็วแสงที่มีค่าประมาณ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที หรือความเร็วที่สามารถเดินทางรอบโลกได้ 7 รอบ ใน 1 วินาที จะทำให้เวลาที่เราวัดได้นั้นเปลี่ยนไป


หรือโดยพื้นฐานแล้ว ทฤษฎีนี้หมายความว่า เวลาในแต่ละสถานที่ หรือบนดาวแต่ละดวง ถ้าความเร็วสัมพัทธ์ หรือความเร็วที่เปรียบเทียบระหว่าง 2 สถานที่นั้นมีค่าต่างกัน การวัดเวลาเปรียบเทียบก็จะมีค่าไม่เหมือนกัน และความเร็วในการเคลื่อนที่นี้ยังแปรผันตรง หรือเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับความต่างของเวลาอีกด้วย


ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์อาจจะสามารถเดินทางย้อนเวลาได้ ด้วยการเคลื่อนที่บนยานซึ่งมีความเร็วมากกว่าแสง หรือเรายังสามารถย่นระยะเวลาให้ช้าลงได้ หากเราสามารถเดินทางในความเร็วที่ใกล้เคียงกับความเร็วแสงได้เช่นกัน หรือแม้แต่การหยุดเวลา หากมนุษย์สามารถสร้างยานพาหนะที่เดินทางด้วยความเร็วแสงได้


ในปี 2016 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA)  ได้ทำการทดสอบร่างกายนักบินอวกาศเพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับจัดทำแผนส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร ด้วยการส่งนักบินอวกาศคนหนึ่งไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และอีกคนนั้นทำงานบนโลก


นักบินที่อยู่บนอวกาศมีชื่อว่าสก็อต เคลลี (Scott Kelly) ทำงานบน ISS เป็นเวลา 520 วัน ส่วนอีกคนที่เปรียบเทียบก็คือ มาร์ค เคลลี (Mark Kelly) น้องชายฝาแฝดของเขา เมื่อครบกำหนด ก็นำข้อมูลไปประกอบการเตรียมแผนส่งคนไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารต่อไป


แต่การทดลองนี้นอกจากจะช่วยเตรียมแผนไปดาวอังคารแล้ว ยังเป็นการพิสูจน์ด้วยเช่นกันว่าทฤษฎีของไอน์สไตน์มีความเป็นไปได้เชิงทฤษฎีอีกด้วย เพราะว่า ISS นั้นหมุนรอบโลกด้วยความเร็ว 28,160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตามหลักทฤษฎีแล้ว การเคลื่อนที่ของ ISS นั้นเร็วกว่าการเคลื่อนที่ของโลกเทียบกับ ISS ดังนั้นเวลาบน ISS ก็จะช้าลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ฝาแฝดคนโตที่ควรมีอายุมากกว่าก็จะดูชราภาพช้าลง ซึ่งหากคำนวณด้วยทฤษฎีนี้แล้ว ก็จะพบว่าอายุของตัวเองได้ยืดออก จนมากกว่าน้องชายของตนเองถึง 5 มิลลิวินาที จากเดิมที่อายุห่างกัน 6 นาที โดยเรื่องนี้สก็อต เคลลี (Scott Kelly) ได้พูดในเชิงเปรียบเทียบปนตลกระหว่างการให้สัมภาษณ์ ณ งานเสวนาด้านอวกาศหลังจากกลับจาก ISS ได้ไม่นานนัก


ทั้งหมดนี้เป็นข้อพิสูจน์เบื้องต้นว่าทฤษฎีของไอน์สไตน์นั้นเกี่ยวข้องกับการย้อนเวลาอย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม วิทยาการปัจจุบันยังทำให้เวลาเดินช้าลงไปได้เล็กน้อยเท่านั้น การทำให้ทฤษฎีนี้เป็นจริง จำเป็นต้องหาวิธีสร้างเครื่องยนต์ที่มีพละกำลังมากพอจะทำให้ยานเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสง 


ซึ่งการเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสงนั้นจะคล้ายคลึงกับการเดินทางในภาพยนตร์เรื่องสตาร์ เทร็ค (Star Trek) ที่ในหลาย ๆ ฉากนั้นปรากฏการเดินทางที่เรียกว่า “วาร์ป” (Warp Drive) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการเดินทางข้ามเวลาไปจุดต่าง ๆ ในจักรวาลกัน ซึ่งยังไม่มีใครเสนอวิธีการสร้างเครื่องยนต์แบบนั้นขึ้นมา




ที่มารูปภาพ Wikipedia

 


ทฤษฎีรูหนอน

ทฤษฎีรูหนอน (Wormhole Theory) เป็นทฤษฎีที่เริ่มจากแนวคิดอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) กับนาธาน โรเซน (Nathan Rosen) ในปี 1916 ที่ต่อยอดจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity) ซึ่งตีพิมพ์ในปีก่อนหน้า ก่อนที่จะได้รับการต่อยอดจนถึงปัจจุบัน พื้นฐานของทฤษฎีนี้ก็คือการบอกว่า จุดบนจักรวาล 2 จุด สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันผ่าน “รู” ที่เชื่อม 2 จุดนี้ เข้าหากันในลักษณะที่คล้ายกับการพับกระดาษแล้วแทงดินสอเชื่อมเข้าหากัน ดินสอนี้ก็คือรูหนอนที่ใช้เดินทางข้ามเวลา


ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ อินเตอร์สเตลลาร์ ทะยานดาวกู้โลก (Interstellar - 2014) ภาพยนตร์โดยฝีมือของคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ที่เล่าถึงการเดินทางในอวกาศเพื่อหาหนทางในการหลุดพ้นจากวันสิ้นโลก และรูหนอนคือตัวเลือกการเดินทางหลักของพวกเขา ซึ่งในภาพยนตร์ได้แสดงถึงลักษณะของรูหนอนแบบที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าเป็นรูกลมที่เกิดขึ้น ณ คนละจุดของจักรวาล


โดยการอธิบายรูหนอนในภาพยนตร์เรื่องนี้ใกล้เคียงกับทฤษฎีมากที่สุดในปัจจุบัน แม้ว่าในภาพยนตร์เน้นถึงการเดินทางไปในอนาคตของกาลเวลา แต่โดยทางทฤษฎีนั้นรูหนอนสามารถใช้เดินทางย้อนเวลาได้เช่นกัน เหมือนการเดินทางไต่ดินสอขึ้นไปและกลับลงมา


อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการสร้างรูหนอนขึ้นมาก็คือ


1. ไม่เคยมีใครเห็นลักษณะของรูหนอนมาก่อน อีกทั้งรูหนอนที่พยากรณ์ว่าจะเกิดขึ้นจริงนั้นก็จะมีขนาดเล็กมาก เหมือนการเทียบเส้นผม 1 เส้น กับระบบสุริยจักรวาลที่เอามาเรียงต่อกัน 3 ระบบ ก็ว่าได้ และถ้าจะทำให้รูหนอนขยายใหญ่กว่านี้ก็จะไม่เสถียรและปิดตัวเองลงไปในเวลาอันรวดเร็ว


2. การสร้างรูหนอนขึ้นมาจำเป็นต้องใช้วัสดุจากสารที่เรียกว่า สสารประหลาด (Exotic Matter) ซึ่งเป็นที่มีคุณสมบัติขัดกับธรรมชาติที่มนุษย์คุ้นเคย เช่น เมื่อปาลูกฟุตบอลที่ทำจากสสารประหลาดใส่พื้น ลูกฟุตบอลจะไม่เด้งกลับ แต่จะดันผลักพื้นเพิ่มแทน


 ดังนั้น การสร้างรูหนอนในปัจจุบันก็ยังคงเป็นทฤษฎีต่อไป 


ทฤษฎีเอนโทรปี

เอนโทรปี (Entropy) เป็นคำทางฟิสิกส์ที่อธิบายที่สุดคำหนึ่งที่มาจากวิชาอุณหพลศาสตร์ (Thermodynamics) อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานของเอนโทรปี (Entropy) จะหมายถึงการอธิบายถึงสภาพบางสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงให้ยุ่งเหยิงมากขึ้นหรือลดลง โดยเราสามารถยกตัวอย่างได้ว่า


ถ้าเราคนน้ำตาลที่อยู่ในกาแฟเพื่อให้น้ำตาลละลาย เราจะเรียกว่าเอนโทรปีของน้ำตาลเพิ่มขึ้น

ถ้าเรานำน้ำไปใส่ช่องแช่แข็ง น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งก็จะเรียกว่าเอนโทรปีของน้ำลดลง


ดังนั้น เอนโทรปีของน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ก็หมายถึงเม็ดน้ำตาลที่กระจายตัวมากขึ้น หรือเอนโทรปีของน้ำที่ลดลง ก็เพราะว่าน้ำรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนและกลายเป็นน้ำแข็ง 


อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าถ้าเรามองภาพรวมของทั้งโลกและจักรวาล สถานะของทุกสิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอยู่ดี หรือเรียกว่าเอนโทรปี (Entropy) ของทั้งจักรวาลนั้นเพิ่มขึ้นก็ได้ ดังนั้น เวลาที่ทุกวันนี้ยังคงหมุนไปข้างหน้าก็เรียกว่าเอนโทรปี (Entropy) ของเวลาเพิ่มขึ้นก็ได้เช่นกัน


ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่อง (TENET - 2020) ที่สร้างโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) จึงสร้างทฤษฎีการเดินทางย้อนเวลาด้วยการย้อนเอนโทรปี (Entropy) แทน เพราะในเมื่อทุกสิ่งบนโลกนี้เปลี่ยนแปลงแบบย้อนกลับ ตรงกันข้ามกับธรรมชาติปกติ เวลาที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็ต้องย้อนกลับด้วยเช่นกัน


ยกตัวอย่างเช่นฉากที่พระเอกของเรื่อง (The Protagonist - ตัวเอก) พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ที่สอนเรื่องการอยู่ในโลกย้อนเวลาว่ามีหลักการอย่างไร เราจะพบว่าในโลกที่เอนโทรปี (Entropy) ย้อนกลับ เมื่อพระเอกของเรื่องเหนี่ยวไกปืน แทนที่กระสุนจะพุ่งออกจากปากกระบอกปืน กลับกลายเป็นการย้อนกระสุนที่ฝังอยู่ที่ก้อนหินกลับเข้ามาทางลำกล้องปืนแทน 


อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้เปลี่ยนแปลงในเชิงย้อนกลับ หรือที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้คำว่าเอนโทรปีย้อนกลับ (Inversed Entropy) นั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก โดยยกตัวอย่างถึงการแช่น้ำในช่องแช่แข็งอีกครั้ง ว่าเหตุการณ์นี้ก็ยังไม่เคยมีการค้นพบว่าเป็นการย้อนเวลาของน้ำแต่อย่างใด แม้ว่าสถานะที่เรียกว่าเอนโทรปี (Entropy) จะลดลงก็ตาม


บทสรุป

ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเดินทางข้ามเวลานั้นยังคงเกิดขึ้นจริงไม่ได้ จากข้อสังเกต 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่


วิทยาการ 

นวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การเดินทางข้ามเวลาเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเครื่องยนต์ที่ทำให้มนุษย์เดินทางด้วยความเร็วแสงได้หากอิงกับทฤษฎีของไอน์สไตน์ หรือถ้าต้องการสร้างหลุมดำก็ยังขาดวิทยาการในการจะค้นพบและศึกษา อีกทั้งยังขาดเครื่องมือย้อนเอนโทรปี (Entropy) แบบในภาพยนตร์อีกด้วย


ความขัดแย้งเรื่องของเหตุและผล 

ถ้าเราสามารถย้อนเวลาไปยังอดีตได้จริงและทำการเปลี่ยนแปลงอดีต แล้วปัจจุบันที่เราจากมาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ปริทรรศน์คุณปู่ (Grandfather Paradox) ซึ่งเป็นคำถามว่า ถ้านักเดินทางข้ามเวลาคนหนึ่งเดินทางย้อนอดีตไปฆ่าปู่ตัวเองเพื่อไม่ให้มีลูกหลาน แล้วนักเดินทางคนนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร 


หากทั้ง 2 ปัจจัย นั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาองค์ความรู้ใด ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าในตอนนี้หนทางการเดินทางข้ามกาลเวลานั้นยังคงห่างไกลจากคำว่าเป็นไปได้อยู่ในตอนนี้


แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปที่เกิดจากความรู้ในปัจจุบันเท่านั้น สำหรับในอนาคตมนุษย์อาจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนเกิดการค้นพบใหม่ ๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่ปฏิเสธการมีอยู่ของฟิสิกส์ควอนตัม (Quantum Physics) แต่ในปัจจุบันการใช้องค์ความรู้ในสาขานี้ก็ทำให้เรามีอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า มาใช้งานในทุกวันนี้ ดังนั้น หากในอีก 10 ปี หรือ 100 ปี ต่อจากนี้ บทสรุปทั้งหมดนี้อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้เช่นกัน


ที่มาข้อมูล NASA Science for KidsBusiness InsiderSpace - Time TravelSpace - Wormhole TheorySpace - Grandfather ParadoxLos Angeles TimesWikipediaUNILADSci Fire via BlockditIMDbSnopesScott Kelly - Space


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง