รีเซต

ผลตอบแทนสินทรัพย์ดิจิทัลหลังจบไตรมาส 2 ตัวไหนปัง ตัวไหนแป้ก ?

ผลตอบแทนสินทรัพย์ดิจิทัลหลังจบไตรมาส 2 ตัวไหนปัง ตัวไหนแป้ก ?
TNN ช่อง16
2 กรกฎาคม 2564 ( 11:34 )
48

ไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ในบทความนี้จึงอยากจะมาอัพเดทผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงครึ่งแรกของปีว่าเป็นอย่างไร ตัวไหนโดดเด่น ตัวไหนสวนทางเพื่อน ๆ เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นภาพกว้างที่ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งเราจะมาแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถวางแผนสำหรับไตรมาสถัดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ


ภาพรวมผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ YTD

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจมากในช่วงแรก เพราะข่าวสารเรื่องการยอมรับจากสถาบันในระดับโลกที่เข้ามาลงทุน การรับสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปผูกกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ETF, Futures, Option เป็นต้น อีกทั้งนักลงทุนรายบุคคลก็หันมาสนใจ เข้าซื้อแบบไล่ราคากันตั้งแต่ต้นปี สาเหตุเพราะผลตอบแทนในปี 2020 นั้นน่าสนใจและโดดเด่นกว่าสินทรัพย์เสี่ยงชนิดอื่น ๆ ทำให้ราคาแต่ละเหรียญปรับตัวขึ้นสูงมาก อย่าง Bitcoin ก็มีราคามากกว่า 2 ล้านบาทต่อ 1 Bitcoin หลังจากนั้นก็เริ่มมีข่าวสารกดดันสภาพตลาดออกมาเรื่อย ๆ จนราคาปรับตัวลงจากจุดสูงสุดหลาย % ทำให้นักลงทุนหรือนักเก็งกำไรที่เพิ่งเข้าตลาดมาไม่นาน ตกใจเทขายกันยกใหญ่ เราจึงอยากฉายภาพรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงครึ่งแรกของปีว่า นับจากต้นปีมาถึงตอนนี้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร เราอ้างอิงตามเหรียญที่มีในแพลตฟอร์มของซิปเม็กซ์ ยกเว้น กราฟราคาของ ZMT, C8P, xBullion หรือ Gold Digital แห่งแรกของประเทศไทยที่ราคาใกล้เคียงทองคำในตลาดโลก เราจึงใช้กราฟราคาทองคำมาอ้างอิงแทน


  

หากดูจากรูปนี้เหรียญที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดแบบ YTD (Year to Date) คือเหรียญที่มีชื่อว่า Six Network บวกไปประมาณ 650% ซึ่งเหรียญนี้มาจากผลงานของคนไทยที่หลายท่านน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี


บริษัท SIX Network เริ่มก่อตั้งและจดทะเบียนในปี 2018 โดยมีผู้ก่อตั้งคือ คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท Ookbee และผู้บริหารกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก และคุณวัชระ เอมวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Computerlogy ได้เล็งเห็นคุณสมบัติที่ดีของสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Blockchain จึงได้ร่วมมือกันสร้าง SIX Network เพื่อปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมดิจิทัลครีเอทีฟในประเทศไทยและสร้างระบบ Decentralized Services Platform เหรียญที่สองที่ให้ผลตอบแทนสูงในช่วงครึ่งแรกของปีคือ Sand หรือชื่อเต็มคือ Sandbox บวกไปประมาณ 500%


Sandbox เป็นแพลตฟอร์มเกมส์โลกเสมือนจริงที่ผู้เล่นสามารถสร้าง, เป็นเจ้าของและสร้างรายได้จากการเล่นเกมส์บน Ethereum Blockchain โดยใช้ SAND Token และผู้เล่นยังสามารถสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็น NFT และอัพโหลดบน Sandbox Marketplace หรือจะเชื่อมเข้ากับเกมส์ด้วย Game Maker นอกจากนี้ผู้เล่นยังได้รับ SAND Token จากการเข้าร่วมใช้งานฟังก์ชั่นที่กล่าวมาข้างต้นนี้อีกด้วย สำหรับ SAND Token เป็น Token ประเภท Utility Token ถูกสร้างบน Ethereum Blockchain มาตรฐาน ERC-20 ซึ่งถูกใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้จ่ายค่าธรรมเนียม, Staking, เล่นเกมส์หรือซื้อไอเท็มเกมส์ เป็นต้น 


ส่วนเหรียญโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในแดนบวก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนนักลงทุนและนักเก็งกำไรไม่ได้อยู่ที่ต้นปี แต่มักอยู่ในเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ราคาขึ้นไปสูงแล้วเริ่มปรับตัวลง พอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัลของแต่ละท่านจงบวกลบไม่เท่ากัน หากเราเข้าซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงต้นไตรมาส 1 ปี 2021 ผลลัพธ์จะเป็นประมาณภาพประกอบด้านล่างนี้


 

มากกว่าครึ่งให้ผลตอบแทนที่ติดลบ ลบมากลบน้อยต่างกันไป ฉะนั้นจังหวะเวลาเข้าซื้อจึงมีความสำคัญมากในสินทรัพย์ที่ผันผวนสูงเช่นนี้


ต้นทุนของคนที่ซื้อ Bitcoin ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่เท่าไหร่

ตามข้อมูลของ On-chain Analysis สามารถบอกได้ว่าคนที่ซื้อ Bitcoin ในช่วงที่ผ่านมาราคาต้นทุนกองอยู่ระดับไหนเยอะ แล้วถ้าเทียบกับราคาตลาด ณ ปัจจุบัน (30 มิถุนายน 2021) คนส่วนใหญ่กำไรหรือขายทุนกันอยู่

 


จากภาพประกอบด้านบน วงกลมสีเขียวคือคนที่ซื้อ Bitcoin แล้วยังมีกำไรเมื่อเทียบกับราคาตลาดที่ประมาณ 35,000 BTCUSD วงกลมสีแดงคือคนที่มีต้นทุนสูงและขาดทุนอยู่ ขนาดของวงกลมหมายถึงคนมีต้นทุนตรงนั้นเยอะกว่าจุดอื่น ๆ นั่นทำให้เห็นว่าในช่วงที่ Bitcoin ปรับตัวเป็นขาลง ราคาแกว่งระหว่าง 30,000-40,000 BTCUSD มากกว่า 52.72% ขาดทุน มีต้นทุนประมาณ 36,000-37,000 ห่างจากราคาตลาดเล็กน้อย (ไม่นับคนติดดอยที่ 60,000 เพราะข้อมูลชุดนี้คิดในช่วง 30 วันเท่านั้น)


สินทรัพย์ดิจิทัลยังมีความผันผวนสูงที่สุดในตระกูลสินทรัพย์เสี่ยง

สิ่งที่วัดความผันผวนของสินทรัพย์นั้นมีหลายวิธี วิธีหนึ่งคือดูค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนแล้วเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ จากภาพประกอบเป็น Average Intra-Day Move ของ Bitcoin, Ethereum, VIX Index, Nasdaq 100, S&P 500, และ Dax ของเยอรมันที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แฟรงค์เฟิร์ต

 


จะสังเกตุเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นมีการแกว่งตัวใกล้เคียงกันไม่ต่างกันมาก แต่ในส่วนของ Bitcoin และ Ethereum มีการเคลื่อนไหวที่มากกว่า 3-4 เท่าในแต่ละวัน ซึ่งแน่นอนว่าเวลาปรับตัวลงก็แอบโหดไม่ต่างกับตอนที่ปรับตัวขึ้น


ถือว่าในครึ่งแรกของปี สินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมทำผลตอบแทนได้ดีพอสมควร แต่ความผันผวนระหว่างทางก็สูงไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราในฐานะนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรต้องตระหนักมากขึ้น คือเรื่องของจังหวะการเข้าที่เหมาะสม การจัดสรรเงินทุน การแบ่งเงิน แบ่งพอร์ตอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ไตรมาสถัดไป พอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัลของเราติดลบในขณะที่ตลาดโดยรวมบวก หรือพอร์ตเราบวกมากเกินไปเพราะเสี่ยงสูงโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว



ข่าวที่เกี่ยวข้อง