รีเซต

สภาอุตฯ ผุด 4 มาตรการ แก้โควิดก่อนศก.พัง ขอความชัดเจนรบ. ปมวัคซีน-ค่าชดเชย

สภาอุตฯ ผุด 4 มาตรการ แก้โควิดก่อนศก.พัง ขอความชัดเจนรบ. ปมวัคซีน-ค่าชดเชย
มติชน
23 สิงหาคม 2564 ( 14:16 )
44
สภาอุตฯ ผุด 4 มาตรการ แก้โควิดก่อนศก.พัง ขอความชัดเจนรบ. ปมวัคซีน-ค่าชดเชย

ส.อ.ท. เสนอมาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม 4 ข้อ ช่วยแก้โควิด-19 ก่อนเศรษฐกิจพัง ร้องรัฐให้งบสนับสนุน ค่าชุดตรวจเอทีเค-เตียงในพื้นที่ FQ,FAI พร้อมเร่งวัคซีน หลังไม่มีความชัดเจนของการช่วยเหลือโรงงานจากรัฐ

 

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤติ และส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนของประเทศ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเกิดการติดเชื้อในโรงงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ได้จัดทำ “มาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม” เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอาการรุนแรง พร้อมรักษากำลังการผลิตให้มากที่สุด ซึ่งโรงงานที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จะไม่ถูกปิด หากยังสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่แพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน” แบ่งออกเป็น 4 ข้อ ดังนี้ คือ

 

 

1.มาตรการ บับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and Seal) สำหรับภาคอุตสาหกรรมต้องมีความชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติ ได้จริงและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยให้สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจโควิดแบบด่วน (เอทีเค) สม่ำเสมอ 10% ของจำนวนพนักงาน ทุกๆ 14 วัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย สามารถเบิกจ่ายได้ตามจริง แต่ชุดละไม่เกิน 200 บาท ราคานี้คือราคาโดยฌแลี่ยที่ปัจจุบันเอกชนหาซื้อชุดตรวจได้ และให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถกลับเข้ามาทำงานใน บับเบิล ในโรงงานตามปกติ

 

 

2.สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งสถานที่กักตัวในโรงงาน (Factory Quarantine : FQ) และและสถานที่รักษาผู้ป่วยในโรงงาน (Factory Accommodation Isolation:FAI) โดยให้มีจำนวนเตียงๆไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคม เพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อไปจนถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าไปในระบบการรักษา เพื่อลดขั้นตอนในการหาโรงพยาบาล ซึ่งในขั้นตอนนี้ของบสนันสนุนจากรัฐบาลจำนวน 10,000 บาทต่อเตียง รวมทั้งค่าจ่ายในเรื่องอาหาร และการทำความสะอาด อีก 300 บาทต่อวันต่อราย

 

 

3.สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมจัดตั้งศูนย์กักตัวในชุมชน (Community Quarantine) และศูนย์พักคอยและแยกกักตัว (Community Isolation) ให้เพียงพอกับแรงงาน โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงานในพื้นที่

 

 

4.จัดสรรวัคซีนตามเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรค และเศรษฐกิจใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด

 

 

 

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ภาคการผลิตนั้นโดนผลกระทบจาการปิดโรงงานและการกักตัวแรงงานเพราะพบผู้ติดเชื้อ จากการประเมินแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มส่งออกที่ยังมีคำสั่งซื้อที่เต็มจำนวน จะมีการชะลอการผลิตไป อย่างน้อย 5-10% ของการผลิต และถ้าเกิดในโรงงานขนาดเล็ก ก็อาจจะปิดโรงงานเลย ในขณะนี้ รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็น มากกว่า 70% ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ดังนั้นจึงต้องดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ประเทศ

 

 

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน มาตรการในการควบคุมการระบาดโควิด-19 ตามโรงงานของรัฐบาล นั้น ยังไม่มีการสนับสนุนหรือการชดเชยค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด มีเพียงแต่คำสั่งที่ให้ภาคอุตสาหกรรมและโรงงานต้องปฏิบัติตาม ผู้ประกอบการโรงงานก็เริ่มทำมาตรการด้วยเงินของตนเอง ซึ่งค่าชุดตรวจเอทีเค รวมประมาณ 3,200 ล้านบาท ส่วนค่าเตียงอีก 3,700 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการต่างก็บ่นว่า ต้องตั้งศูนย์กักตัวในโรงงาน ต้องเตรียมเตียง ลงทุนปรับปรุงห้องน้ำ และมากไปกว่านั้นบางโรงงานก็ได้รับคำสั่งขอให้ทำสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนาม รับคนในชุมชนมาดูแลด้วย ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

 

 

“เมื่อเปรียบเทียบ กับกรรีมีคนหนึ่งคนติดเชื้อโควิดนั้นค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับว่า อาการหนักไหมและเข้ารับการรักษาแบบไหน ถ้าอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองหรือแดงนั้น ค่าใช้จ่ายจะมหาศาล ยิ่งเมื่อเป็นผู้ป่วยสีแดง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายก็เป็นล้านบาท ซึ่งมันหนักมาก

 

 

ดังนั้นถ้าหากทำการควบคุมตั้งแต่ต้น ก็จะลดภาระค่าใช้จ่ายได้ ถึงแม้รัฐบาลจะมีงบประมาณการชดเชย ให้ภาคอุตสาหกรรม กรณีที่รักษาตัวใน ฮอลพิเทล หรือ Hospitel หัวละ 1,500 บาท และ เข้าศูนย์กักตัว หรือ State Quarantine หัวละ 1,000 บาท แต่ด้วยกระบวนการซับซ้อนและความไม่คุ้นเคย ก็ทำให้ภาคเอกชนไม่รู้ว่าจะเบิกอย่างไร และรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้เลย มีแต่ความชัดเจนให้เราทำตาม

 

 

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลหารือและตกลงกัน ส่วนนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะหลายๆเรื่องที่รัฐบาลประกาศมามันไม่มีความชัดเจน ตั้งแต่เรื่องวัคซีน ซึ่งทำให้สับสน เมื่อตกลงกันให้ชัดเจนแล้ว ภาคเอกชน โรงงานอุตสาหกรรมก็จะได้ปฏิบัติตามได้ถูกต้องในรูปแบบเดียวกัน และรับรู้ว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้อยู่รอด ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจอาจจะพังได้ เพราะทุกคนก็เหนื่อยกับมาตรการและไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ชัดเจน” นายสุพันธุ์ กล่าว

 

 

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้จะทำการส่งเป็นเอกสารไปถึง รัฐบาล อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในบ่ายวันนี้ (23 สิงหาคม) หรืออย่างช้าคือ วันที่ 24 สิงหาคม เพื่อให้รัฐบาลรับทราบ และทำการพิจารณาหรือแก้ไข รายละเอียดให้ตรงกัน และสอดคล้องกับสถานการณ์และข้อมูลที่ถูกต้อง ส่วนนี้เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อให้มีการป้องกันโควิด`-19 ดีกว่าปล่อยให้มีการติดเชื้อและแพร่กระจายไปในชุมชนมากไปกว่านี้ จึงไม่ได้เป็นการเรียกร้องเงินจากรัฐบาล แต่เป็นการร้องขอในสิ่งที่รัฐบาลอย่างให้เราทำ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง