รีเซต

รู้ทัน "Cyberbullying" กลั่นแกล้ง-ดูถูกผู้อื่น เสี่ยงติดคุก ชดใช้ค่าเสียหาย

รู้ทัน "Cyberbullying" กลั่นแกล้ง-ดูถูกผู้อื่น เสี่ยงติดคุก ชดใช้ค่าเสียหาย
TNN ช่อง16
29 พฤษภาคม 2566 ( 15:15 )
93
รู้ทัน "Cyberbullying" กลั่นแกล้ง-ดูถูกผู้อื่น เสี่ยงติดคุก ชดใช้ค่าเสียหาย

รู้ทัน "Cyberbullying" กลั่นแกล้ง-ดูถูกผู้อื่น แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อ อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เสี่ยงติดคุก ชดใช้ค่าเสียหาย


ปัจจุบันมีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากการถูกบูลลี่ (Bully) ในหลายรูปแบบและรุนแรงเพิ่มขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบูลลี่กันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีการศึกษาพบว่าการบูลลี่มักเกิดขึ้นในโรงเรียนมากที่สุด พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกต สอดส่องดูแลบุตรหลาน สอบถามกิจกรรมในโรงเรียนสม่ำเสมอ พูดคุยสิ่งที่เจอในแต่ละวัน เพื่อแลกเปลี่ยนและระมัดระวังไม่ให้บุตรหลานเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบไปทั้งร่างกายและจิตใจ


แบบไหนเข้าข่าย บูลลี่
พฤติกรรมข่มขู่กับการบูลลี่ อาจแยกกันไม่ได้เด็ดขาด ด้วยส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทำของผู้ที่คิดว่าตนมีอำนาจมากกว่ารังแกผู้ที่ด้อยกว่าหรือคนตัวใหญ่ชอบรังแกคนตัวเล็ก พฤติกรรมเหล่านั้นอาจเกิดซ้ำ ๆ ซึ่งหากต้องเผชิญการทำร้ายครั้งแรก ผู้ถูกกระทำอาจให้อภัยได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ อาจกลายเป็นความเครียดหรือความแค้นในที่สุด นอกจากนี้ผู้กระทำส่วนใหญ่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้ผู้อื่นอับอาย เจ็บตัว เสื่อมเสีย หรือด้อยค่าลง


โดยสามารถจำแนกการบูลลี่ได้ ดังนี้
-บูลลี่ทางร่างกาย เป็นการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายให้เกิดการบาดเจ็บ มีบาดแผล ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก บางกรณีอาจส่งผลต่อจิตใจอีกด้วย
-บูลลี่ทางวาจา แม้ไม่มีบาดแผลทางกายให้เห็น แต่การพูดส่อเสียด ล้อเลียน ใส่ร้าย การประจานด้วยคำพูดให้ผู้อื่นได้ยิน นอกจากจะสร้างความอับอาย วิตกกังวล อาจสร้างความเครียด เก็บกด ส่งผลถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือหวาดกลัวสังคม ถือเป็นบาดแผลทางใจที่เจ็บปวดไม่น้อย
-บูลลี่ทางสังคม เป็นการสร้างกระแสสังคมรอบข้างให้โหมกระหน่ำมายังเหยื่อของการ บูลลี่ เสมือนการยืมมือคนรอบข้างให้ร่วมกันทำร้ายบุคคลเพียงคนเดียว เช่น การปล่อยคลิปของเหยื่อ หรือการสร้างข่าวลือ จนผู้เสพหลงเชื่อและพร้อมจะแชร์และกระพือข่าวให้ไปในวงกว้างขึ้น จนกว่าผู้ถูกกระทำไม่มีที่ยืนทางสังคม

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอกฎหมายน่ารู้ ตอน : หยุดการ Cyberbullying โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้


พฤติกรรมกลั่นแกล้งและดูถูกผู้อื่น ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การล้อเลียนเสียดสี ว่ามีฐานะยากจน เรียนไม่เก่ง บ้านไม่มี Wifi เป็นต้น


การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะของการระรานทางไซเบอร์ หรือ Cyberbullying ซึ่งส่งผลเสียและสร้างความเสียหายให้กับผู้ถูกบูลลี่


การกระทำดังกล่าว หากสามารถระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้ว่าเป็นใคร (แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อ) อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท

มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชน ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ หากพบเห็นการ Cyberbullying ไม่ควรแชร์ต่อ ไม่ควรคอมเมนต์ และไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะทางใด เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่อาจจะตามมา และ ไม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย หรือใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้อื่นง



ภาพจาก กระทรวงยุติธรรม

 





ที่มา รพ.สมิติเวช / กระทรวงยุติธรรม

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง