รีเซต

สถาปนิกไทยพัฒนาคอนกรีตจากเปลือกหอยนางรม ลดการปล่อย CO2 รักษ์โลกมากขึ้น

สถาปนิกไทยพัฒนาคอนกรีตจากเปลือกหอยนางรม ลดการปล่อย CO2 รักษ์โลกมากขึ้น
TNN ช่อง16
1 ตุลาคม 2567 ( 12:44 )
28
สถาปนิกไทยพัฒนาคอนกรีตจากเปลือกหอยนางรม ลดการปล่อย CO2 รักษ์โลกมากขึ้น

สถาปนิกและนักออกแบบภายในเชื้อชาติไทย ผุดไอเดียนำเปลือกหอยนางรมมาบดเป็นส่วนผสมแทนหินปูน (Limestone) ในคอนกรีต เรียกวัสดุนี้ว่า ออยสเตอร์[ครีต] (Oyster[Crete]) เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง 



ผู้พัฒนาวัสดุใหม่ดังกล่าวนี้คือ มูก้า ศรีสุรโยธิน (Mooka Srisurayotin) ผู้ก่อตั้ง แมทเทอร์ ฟอร์ม สตูอิโอ (Matter Forms Studio) ซึ่งเป็นสตูอิโอออกแบบสหวิทยาการ (สื่อถึงการผสมผสาน บูรณาการความรู้ วิธีการ และมุมมองจากสาขาวิชาการต่าง ๆ เพื่อการออกแบบ) ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ


ผู้พัฒนาอธิบายว่า ออยสเตอร์[ครีต] เป็นโครงการที่เธอริเริ่มเมื่อทำวิจัยตอนเรียนที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมบาร์ตเลตต์ (Bartlett School of Architecture) ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London หรือ UCL) ประเทศอังกฤษ โดยมีความตั้งใจที่จะมองหาวัสดุทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม


โดยเธอได้พบว่าที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ใช้หอยนางรมเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และทิ้งเปลือกหอยวันละประมาณ 5,000 ชิ้น จึงได้นำเปลือกหอยนางรมมาศึกษาและพบว่ามันมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับหินปูน จึงพัฒนามาเป็น ออยสเตอร์[ครีต]


วิธีการผลิต ออยสเตอร์[ครีต] คือการรวบรวมเปลือกหอยนางรมชิ้นสมบูรณ์มาก่อนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อบดให้แตกเป็นชิ้น ๆ หลากหลายขนาด จากนั้นแยกชิ้นเปลือกหอยตามขนาดก่อนจะนำเข้าเครื่องจักรอีกเครื่องเพื่อบดละเอียด และเติมส่วนผสมเพื่อผลิตเป็นออยสเตอร์[ครีต] ก่อนที่จะนำวัสดุไปขึ้นรูปและสร้างผลิตภัณฑ์ ซึ่งวัสดุทั้งหมดที่ใช้เป็นวัสดุจากธรรมชาติ และกว่าร้อยละ 80 จะเป็นเปลือกหอยนางรม โดยส่วนผสมของทรายและดินเหนียวในปริมาณน้อย 



ปัจจุบันได้มีการนำวัสดุออยสเตอร์[ครีต] ไปผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ บ้างแล้ว เช่น ถาดอาหาร หรือ พื้นผิวส่วนบนของเคาน์เตอร์ (Countertop) อย่างไรโดยทางผู้พัฒนากล่าวว่าในช่วงแรก วัสดุออยสเตอร์[ครีต] จะถูกนำมาใช้สร้างผลิตภัณฑ์และของตกแต่งขนาดเล็ก แต่เป้าหมายหลักคือการทดสอบการใช้งานในระดับที่ใหญ่กว่า เช่น การนำไปหุ้มผนังสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน โดยโครงการแรก ๆ ที่จะมีการนำวัสดุออยสเตอร์[ครีต] ไปใช้ อาจจะนำไปใช้ในร้านเสื้อผ้าอย่างยูเจเอ็นจี (UJNG) ซึ่งกำลังพิจารณาสร้างผนังด้านหน้าร้านด้วยออยสเตอร์[ครีต] 


ทั้งนี้องค์กรด้านการวิจัยและวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ อย่าง โรเดียมกรุ๊ป (Rodium Group) รายงานว่าในประเทศกำลังพัฒนา มีการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ภายในปี 2050  ซึ่งการเติบโตดังกล่าวนี้จะส่งผลต่อการใช้งานซีเมนต์ สารยึดเกาะที่สำคัญในคอนกรีต 


โดยในกระบวนการผลิตซีเมนต์มีส่วนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อยร้อยละ 6 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นในหลายกระบวนการ เช่น เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินในการให้ความร้อนในเตาเผา นอกจากนี้ในซีเมนต์มีส่วนผสมของหินปูน (Limestone) ซึ่งต้องผ่านการกระบวนการแปรรูปหินปูนให้เป็นปูนเม็ด (Clinker) ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาวิธีการสร้างซีเมนต์ด้วยเปลือกหอยนางรม ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ แทนหินปูน จึงถือเป็นความพยายามหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก ที่อาจจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากขึ้น


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง