รีเซต

เงินเฟ้อพุ่ง ทำไมถึงต้องกังวล?

เงินเฟ้อพุ่ง ทำไมถึงต้องกังวล?
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2565 ( 07:21 )
362

ในการประชุม กนง. นัดล่าสุด วานนี้( 8 มิ.ย.65)  ได้ยอมรับว่า ไทยต้องเผชิญกับภาวะ เงินเฟ้อ ที่พุ่งสูงขึ้น  ด้วยเหตุจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น  และคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยจะอยู่ในระดับสูงในปีนี้ แตะระดับสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี  ก่อนจะลดเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้า  


หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า ว่า ภาวะเงินเฟ้อ มันมีความสำคัญยังไง และมีเหตุผลอะไรที่เราต้องร่วมกังวลด้วยไหม ? 


เงินเฟ้อ คืออะไร?


ภาวะเงินเฟ้อ   หมายถึง  ราคาสินค้า-บริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นจะกระทบฐานะ และความเป็นอยู่ของประชาชน 


นอกจากนี้ เงินเฟ้อ ยังแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ เงินเฟ้อทั่วไป และ เงินเฟ้อพื้นฐาน  โดยที่เงินเฟ้อพื้นฐาน จะไม่นำราคาของอาหารสดและพลังงานมาคำนวณ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความผันผวนสูง


สาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อจะเกิดจาก 2 กรณี คือ 

1. ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่แพงขึ้น เช่น น้ำมันแพงขึ้น, วัตถุดิบแพงขึ้น และค่าแรงแพงขึ้น

2. ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้น

เช่น เกิดโรคระบาด ประชาชนต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มมากขึ้น


ทำไมถึงต้องกังวล หากเกิดภาวะเงินเฟ้อ

หากเกิดภาวะเงินเฟ้ออ่อน ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ถ้าให้มองเห็นภาพ ก็คือ ถ้าผู้บริโภคเห็นว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้น ก็จะรีบซื้อตั้งแต่วันนี้  ซึ่งจะส่งผลไปยังภาคการผลิตก็ต้องผลิตมากขึ้น จ้างงานมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น  


แต่หากเงินเฟ้อผันผวนมาก ๆ  จนไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูก ก็จะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น ถ้าเมื่อใดที่ผู้บริโภคกลัวว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้นมาก จนทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย หรือมีอำนาจการซื้อน้อยลง  จนกระทั่งคิดว่าควรเก็บเงินไว้ก่อน นั่นจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะไม่มีการใช้จ่ายกระจายรายได้ไปยังส่วนต่างๆ 

ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะมีค่าลดลงไป  เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมาร้อยละ1  อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น  แต่หากปีต่อไป อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 2  อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็นร้อยละ - 0.5 ต่อปีซึ่งถือว่ากำลังซื้อของผู้ฝากเงินลดลง


การฝากเงินก็ทำให้ได้รับผลตอบแทนจริงๆ ติดลบ ทำให้ผู้ฝากไม่อยากออมเงิน  และอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทอง อสังหาริมทรัพย์และหุ้น  เป็นต้น ซึ่งต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย  


ปัจจุปัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าปัญหาเงินเฟ้อจะค่อย ๆ คลี่คลาย ตามรายงาน การประชุมกนง. เมื่อวานนี้ แต่ ยังคงจับตาอย่างใกล้ชิด และจะไม่ให้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหากเกิดวิกฤตจริง หน่วยงานหลักอย่าง ธปท. และ กระทรวงพาณิชย์ ก็จะใช้เครื่องมือนโยบายการเงินเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาทันที  


อ้างอิงข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาพจาก :AFP


ข่าวที่เกี่ยวข้อง