รีเซต

ทำไมจีนถึงน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นคนจมดับในรถไฟใต้ดิน

ทำไมจีนถึงน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นคนจมดับในรถไฟใต้ดิน
ข่าวสด
23 กรกฎาคม 2564 ( 01:59 )
129

 

ทำไมจีนถึงน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ - เอเอฟพี รายงานบทวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์จนน้ำหลากท่วมมณฑลเหอหนาน ภาคกลางของจีน น้ำทะลักเขื่อนและอ่างเก็บน้ำพังทลาย ดินถล่ม บ้านเรือนหลายหลังพังครืน ถึงขั้นท่วมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่เมืองเจิ้งโจว และเกิดเหตุสะเทือนขวัญที่ผู้เคราะห์ร้ายจมน้ำตายในรถไฟฟ้าถึง 12 ราย จากยอดผู้เสียชีวิต 33 ราย

 

 

แม้รัฐบาลจีนเคยออกข่าวว่าเครือข่ายเขื่อนขนาดใหญ่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทุกปีได้ แต่มวลน้ำมหาศาลเมื่อไม่กี่ปีมานี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายร้อยคนและไหลเอ่อท่วมบ้านเรือนหลายพันหลัง โดย 5 ประเด็น เป็นที่มาของคำถามว่า ทำไมจีนถึงน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์

 

 

เขื่อนช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ

จีนต้องพึ่งพาอาศัยเขื่อน คันกันน้ำ อ่างเก็บน้ำเพื่อควบคุมการไหลของน้ำมาตั้งแต่ในอดีต
กระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉินจีน ระบุว่าเมื่อปี 2563 เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในแม่น้ำแยงซีซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชีย กักเก็บน้ำได้ประมาณ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตรและชะลอน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ด้านล่างอย่างนครเซี่ยงไฮ้ แต่ระบบการจัดการควบคุมป้องกันน้ำท่วมไม่ได้

 

จึงเกิดคำถามว่าเขื่อนที่สร้างมานานหลายสิบปีมีความคงทนหรือไม่

 

 

 

เมื่อคืนวันอังคารที่ 20 ก.ค. กองทัพได้รับแจ้งว่าเขื่อนแห่งหนึ่งในมณฑลเหอหนานเสียหายและอาจจะพังทลายลงได้ทุกขณะ หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทหารจึงต้องใช้ระเบิดเปิดทางให้น้ำระบายออกจากเขื่อนและเร่งสร้างคันกั้นน้ำด้วยกระสอบทรายทั่วมณฑล

 

 

 

 

 

ส่วนปีก่อน ทางการท้องถิ่นมณฑลอานฮุยทางตะวันออกของจีนต้องสั่งการให้ระเบิดเขื่อน 2 แห่งเพื่อระบายน้ำที่กำลังเพิ่มระดับในแม่น้ำชูเหอและจะไหลเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูก

 

 

ขณะที่ประชาชนมีความกังวลถึงโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบของเขื่อนสามผาเหนือแม่น้ำแยงซีซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่สร้างบนรอยเลื่อนทางธรณีวิทยา

 

 

ผลกระทบภาวะโลกร้อน

จีนเดินหน้าสร้างเขื่อน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงบ่อยขึ้น

 

 

 

นายเบนจามิน ฮอร์ตัน ผู้อำนวยการสถาบันสังเกตการณ์โลกแห่งสิงคโปร์กล่าวว่าเมื่อชั้นบรรยากาศโลกอุ่นขึ้นจะกักความชื้นมากขึ้นส่งผลให้ฝนตกหนักขึ้น

 

 

ด้านกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนเปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำ 53 สายในจีนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว พร้อมทั้งเตือนว่าเขื่อนสามผากำลังเผชิญกับน้ำท่วมหนักที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเปิดทำการในปี 2546

 

 

 

ส่วนเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนานซึ่งเป็นพื้นที่ฝนกระหน่ำมากที่สุดในสัปดาห์นี้มีระดับน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีภายในเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น

 

 

นายหลี่ โช นักวิเคราะห์สภาพอากาศแห่งองค์กรกรีนพีซภูมิภาคเอเชียให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่าอุทกภัยเป็นสัญญาณเตือนภัยจีนว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่ตรงนี้

 

 

 

 

“เมืองฟองน้ำ” ช่วยได้หรือไม่

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมรุนแรงในจีนเกิดจากการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว การขยายเมืองกินพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ และมีการสร้างคอนกรีตกั้นน้ำไหลผ่านทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่น้ำจะขังและท่วมอย่างรวดเร็วเมื่อฝนตกหนักเพราะไม่มีทางระบาย

 

 

นายฮอร์ตันกล่าวเสริมว่าทะเลสาบใหญ่หลายแห่งมีขนาดลดลง รัฐบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่งจึงริเริ่มโครงการ “เมืองฟองน้ำ” ในปี 2557 โดยสร้างพื้นผิวที่ซับน้ำได้ในเมือง รวมทั้ง ทางเท้าที่น้ำซึมได้ มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีพื้นที่ระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำเพื่อหยุดการสะสมน้ำบนผิวดิน

 

 

 

 

นางสาวเซซิเลีย โตร์ตาชาดา นักวิจัยด้านนโยบายน้ำ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่าจุดประสงค์ของเมืองฟองน้ำเพื่อระบายน้ำฝนให้ไหลลงพื้นที่ระบายน้ำหรือพื้นที่สีเขียวและลดผลกระทบในเขตที่อยู่อาศัย

 

 

ใครได้รับผลกระทบมากที่สุดจากน้ำท่วม

เมืองฟองน้ำอาจจะได้ผลเล็กน้อยต่อคนในชนบทเพราะอยู่ในเส้นทางน้ำที่ถูกผันมาทำให้ได้รับความเสียหายใหญ่หลวงต่อบ้านเรือนและผลิตผลการเกษตร

 

 

ขณะชาวเมืองส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่รอดพ้นจากระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น แต่ชาวชนบทที่อาศัยริมแม่น้ำแยงซีกลับต้องรับเคราะห์แทน

 

 

 

 

หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านต้องอพยพหนีน้ำท่วมเป็นประจำเพื่อให้ประชาชนที่อยู่กันอย่างหนาแน่นในเมืองรอดพ้นจากน้ำท่วม

 

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าเมื่อไม่กี่วันมานี้ น้ำฝนสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก 125,000 ไร่ในชนบทรอบเมืองเจิ้งโจว มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 352 ล้านบาท

 

 

จะทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม

จีนหันไปใช้วิธีเฝ้าระวังน้ำท่วมและสั่งอพยพตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน

 

 

ซินหัวรายงานว่า เมืองอันชิ่ง มณฑลอันชิ่งใช้การเฝ้าระวังสภาวะอากาศด้วยการใช้แว่นเสมือนจริงซึ่งเชื่อมโยงกับกล้องจับภาพระดับน้ำและใช้ระบบอินเทอร์เน็ต 5G เพื่อส่งภาพไปยังผู้ตรวจสอบ

 

 

 

ปีที่แล้ว กระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉินกล่าวว่าผู้เสียชีวิตหรือสูญหายจากน้ำท่วมเมื่อช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค. ลดลงเหลือ 219 ราย น้อยกว่าสถิติเฉลี่ยรายปีในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 หรือประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 832,000 ล้านบาท

 

 

นางสาวโตร์ตาชาดากล่าวว่าท้ายที่สุด การป้องกันน้ำท่วมต้องร่วมมือกันทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ขณะที่หลายๆ ประเทศเตรียมรับมือดีขึ้น แต่ในภาพรวม ทั้งโลกยังคงไม่ได้เตรียมการใดๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง