รีเซต

"Post Vacation Blues" รู้ทันภาวะอารมณ์เศร้าหลังวันหยุดยาว

"Post Vacation Blues" รู้ทันภาวะอารมณ์เศร้าหลังวันหยุดยาว
TNN ช่อง16
30 ตุลาคม 2567 ( 15:11 )
23



Post Vacation Blues คือ ภาวะอารมณ์เศร้า ๆ หลังกลับจากการผ่านช่วงวันหยุดยาว ที่เราอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขในวันแสนพิเศษ และต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมกลับสู่วันธรรมดาที่ไม่สุข ซึ่งขับเน้นความทุกข์ทรมานใจต่าง ๆ ของวันธรรมดา ความรู้สึกเศร้าแบบนี้เกิดขึ้นได้ในบุคคลทั่วไป ไม่จัดว่าเป็นความป่วยทางจิตเวช



โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลการสังเกตลักษณะอาการ ภาวะเศร้าหลังวันหยุดยาว ดังนี้


1. รู้สึกเศร้า ๆ หม่น ๆ วิตกกังวล คิดวน ๆ หรือมีความไม่สบายใจ 

2. รู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายขึ้น

3. เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดไฟ ไม่อยากทำอะไร

4. ไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่กระตือรือร้น

5. บางรายอาจจะกระทบถึงปัญหาการนอน นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป 

 


แม้ภาวะนี้ไม่จัดเป็นอาการทางจิตเวช แต่เมื่อเกิดขึ้น ย่อมส่งผลบั่นทอนประสิทธิภาพการกลับไปทำงานได้ ซึ่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีเยียวยาอารมณ์ ดังนี้


1. หาแรงจูงใจในการไปทำงาน เช่น การตั้งเป้าหมายความก้าวหน้าในการทำงาน หรือหาใครบางคนที่ทำให้การกลับไปทำงานของเรามีความหมาย

2. การสร้างคุณค่ามองหาข้อดีของการทำงาน ว่างานที่ทำสามารถทำประโยชน์ต่อคนอื่น หรือ ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร เช่นมีทักษะเพิ่มมากขึ้น มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเป็นต้น

3. ควรอยู่กับปัจจุบัน วางแผนการทำงานแบบวันต่อวันอย่างเป็นระบบ และทำให้สำเร็จ

4. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ซ้ำซากจำเจ ให้สร้างสรรค์ ท้าทาย ทำให้รู้สึกสนุกและเกิดความคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน



5. หาเพื่อน สร้างทีมทำงาน นอกจากจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น ยังได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้สนุกกับการทำงานมากขึ้น

6. ทำกิจกรรมที่ชอบเพิ่มมากขึ้น ช่วยปรับสภาพจิตใจให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น

7. ไม่เบียดเบียนเวลาในการพักผ่อน การนอนหลับอย่างเพียงพอ จะช่วยปรับสมดุลสารสื่อสารในสมอง

8. วางแผนเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน มีวันที่รอคอยอย่างมีความหวัง ซึ่งช่วยให้จิตใจสดใสขึ้น



ภาวะ Post Vacation Blues ต้องอาศัยการรู้เท่าทันอารมณ์ จะช่วยให้รับรู้ภาวะที่กำลังเผชิญอยู่ อาการสามารถายได้เองใน 2 – 3 วัน แต่บางคนอาการอาจอยู่ยาวถึง 2 – 3 สัปดาห์ แต่หากยาวนานเกินกว่านี้ ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์


ข้อมูล :  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : ทีมกราฟิก TNN


ข่าวที่เกี่ยวข้อง