รีเซต

นักบินอวกาศนิโคล เอเยอร์ส บันทึกภาพสไปรต์สีแดงเหนืออเมริกาเหนือ

นักบินอวกาศนิโคล เอเยอร์ส บันทึกภาพสไปรต์สีแดงเหนืออเมริกาเหนือ
TNN ช่อง16
6 กรกฎาคม 2568 ( 00:35 )
21

เมื่อคืนวันที่ 3 กรกฎาคม พันโท นิโคล เอเยอร์ส นักบินอวกาศสังกัดองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) ได้แชร์ภาพปรากฏการณ์สไปรต์สีแดงที่บันทึกไว้จากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ขณะโคจรเหนือเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา

ภาพความละเอียดสูงเผยให้เห็นแสงสีน้ำเงินอมม่วงเรืองแสงรอบยอดเมฆฝนคะนอง พร้อมเสาสีแดงสดใสพุ่งทะยานขึ้นไปในชั้นมีโซสเฟียร์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ Transient Luminous Event (TLE) ที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตการณ์

ณ ปัจจุบัน เอเยอร์สและลูกเรือคนอื่น ๆ กำลังปฏิบัติภารกิจ ISS Expedition 73 โดยรับผิดชอบการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายด้าน ตั้งแต่การศึกษาปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ในสภาพไร้น้ำหนัก ไปจนถึงการตรวจวัดพลังงานไฟฟ้าในชั้นบรรยากาศ

สไปรต์ (Sprite) คืออะไร?

สไปรต์ (Sprite) คือปรากฏการณ์แสงสว่างชั่วคราวเหนือเมฆฝนฟ้าคะนองที่จัดอยู่ในกลุ่ม Transient Luminous Events (TLE) เกิดขึ้นที่ชั้นมีโซสเฟียร์ (Mesosphere) ของโลก บริเวณความสูงประมาณ 50-90 กิโลเมตรเหนือยอดเมฆคิวมูโลนิมบัส ลักษณะเป็นแสงสีแดงหรือชมพูเรืองแสงเป็นรูปคล้ายร่างแห (Carrot sprite) และเส้นใย (Tendrils) ซึ่งจะปรากฏให้นักวิจัยเห็นเพียงไม่กี่มิลลิวินาทีเท่านั้น

สาเหตุสำคัญมาจากสนามไฟฟ้าเชิงควาซิ-สเตติก (Quasi-electrostatic field) ที่เกิดขึ้นทันทีหลังการปล่อยประจุบวกของฟ้าผ่าลงสู่พื้น สนามไฟฟ้านี้จะเร่งอิเล็กตรอนไปชนกับโมเลกุลไนโตรเจน ทำให้ไนโตรเจนในบรรยากาศปลดปล่อยแสงในช่วงคลื่นสีแดง

การบันทึกภาพสไปรต์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจสมดุลไฟฟ้าและพลวัตของชั้นบรรยากาศชั้นบน รวมถึงประเมินผลกระทบต่อระบบสื่อสารและการบิน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในชั้นโอโซนและไอโอโนสเฟียร์ได้ดียิ่งขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดจากสภาพอากาศหรือมลภาวะทางแสงบนพื้นโลก

ภาพล่าสุดของนักบินอวกาศเอเยอร์สได้รับความสนใจอย่างล้นหลามบนโซเชียลมีเดีย มียอดวิวมากกว่า 2.7 ล้านครั้ง ภายในไม่กี่วัน นับเป็นหลักฐานชัดเจนว่าการสังเกตจากอวกาศยังคงมอบความตื่นตาตื่นใจและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับชุมชนนักวิทยาศาสตร์และประชาชนทั่วไปเสมอครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง