จีนส่งดาวเทียม Huanjing-2E ตรวจสอบสภาพแวดล้อม ภารกิจอวกาศครั้งที่ 45 ในปี 2022
วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศจีนประสบความสำเร็จส่งดาวเทียม S-SAR01 หรือดาวเทียม Huanjing-2E ขึ้นสู่อวกาศ โดยใช้จรวด Long March-2C จากฐานปล่อยจรวดไท่หยวน ทางตอนเหนือของประเทศ มณฑลซานซี ดาวเทียมดวงนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบสภาพแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวบรวมข้อมูลฉุกเฉินกรณีที่เกิดภัยพิบัติ
ดาวเทียม S-SAR01 หรือดาวเทียม Huanjing-2E
นับเป็นความสำเร็จของวงการอวกาศจีนที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ดาวเทียม Huanjing-2E ติดตั้งกล้องถ่ายภาพส่งข้อมูลภาพเรดาร์ S-band ความละเอียดสูง 5 เมตร รองรับการถ่ายภาพพื้นที่ภัยพิบัติความละเอียดสูง รวมไปถึงการตรวจสอบทรัพยากรในน้ำ ติดตามทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตร และป่าไม้ของประเทศจีน
ภารกิจการส่งดาวเทียมในครั้งนี้เป็นภารกิจอวกาศครั้งที่ 45 ของประเทศจีนในปี 2022 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของวงการอวกาศจีนที่ก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
จรวด Long March-2C
นอกจากนี้จรวด Long March-2C ของจีนยังทำภารกิจขนส่งอวกาศเที่ยวบินที่ 3 ภายในระยะเวลา 6 วันที่ผ่านมา (ใช้จรวด Long March แบบใช้งานได้ภารกิจเดียวไม่สามารถนำกลับมาใช้งานซ้ำได้) และเป็นเที่ยวบินที่ 443 ของจรวด Long March-2C ที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีน
ดาวเทียม Huanjing-2E อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CNSA โดยมีกระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉินของจีน และกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ใช้บริการข้อมูลหลักจากดาวเทียมดวงนี้
ความก้าวหน้าของวงการอวกาศจีนไม่ได้ถูกใช้งานเพื่อภารกิจด้านการทหารเท่านั้น ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนได้พยายามเป็นส่วนของการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ด้วยการส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบนโลก การศึกษาดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวอังคาร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการค้นพบและบันทึกข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ ต่อไป
ที่มาของข้อมูล Space.com
ที่มาของรูปภาพ mp.weixin.qq.com