รีเซต

“จีน” เปิดกว้างเจรจาสหรัฐฯ แต่ย้ำต้องเป็นธรรม ไม่ใช่การข่มขู่

“จีน” เปิดกว้างเจรจาสหรัฐฯ แต่ย้ำต้องเป็นธรรม ไม่ใช่การข่มขู่
TNN ช่อง16
11 เมษายน 2568 ( 10:44 )
22

แม้จีนจะยืนหยัดว่าจะ “ต่อสู้จนถึงที่สุด” สำหรับศึกสงครามภาษีกับสหรัฐฯ รอบใหม่นี้ แต่จีนก็พร้อมจะเปิดกว้างสำหรับการเจรจา และเรียกร้องให้สหรัฐฯ กลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า แต่จีนย้ำว่า การเจรจาจะต้องมีความเป็นธรรม และไม่ใช่การข่มขู่

“เหอ หย่งเฉียน” โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า จีนยังคงเปิดกว้างต่อการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า แต่การเจรจาที่เกิดขึ้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และการเคารพซึ่งกันและกัน เนื่องจากการใช้แรงกดดันและการข่มขู่จากสหรัฐฯ ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการเจรจากับจีน และจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนย้ำด้วยว่า “จีนหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะพบกันครึ่งทาง และดำเนินการแก้ไขความขัดแย้งผ่านทางการหารือและการปรึกษา บนหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และร่วมมือกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ในขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนก็ย้ำว่า “หากสหรัฐต้องการทำสงครามการค้ากับจีน จีนก็จะต่อสู้จนถึงที่สุด”

ทั้งนี้ นอกจากจีนจะเปิดกว้างในการกลับสู่โต๊ะเจรจาแล้ว สิ่งที่จีนทำคู่ขนานไปด้วย ก็คือการเพิ่มมาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่ยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีน ล่าสุด โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนประกาศว่า จีนได้เพิ่มบริษัทสหรัฐฯ จำนวน 12 แห่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของจีนเข้าในบัญชีควบคุมการส่งออกสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกของจีน ต้องยุติกิจกรรมการส่งออกที่เกี่ยวข้องทันที และหากมีกรณีจำเป็นต้องส่งออกเป็นพิเศษ ผู้ส่งออกจะต้องยื่นคำขออนุมัติล่วงหน้า 

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนมีแผนที่จะลดการนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐฯ ด้วย  ซึ่งปัจจุบัน อุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นธุรกิจที่มีการเกินดุลทางการค้าจำนวนมากกับจีน เนื่องจากภาพยนตร์จีน ยังไม่สามารถเจาะตลาดภาพยนตร์กระแสหลักในอเมริกาได้

“ยุโรป” ขานรับ “ทรัมป์” พักเก็บภาษี หนุนเจรจา ดันภาษีนำเข้าเป็นศูนย์

สหภาพยุโรป เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เตรียมประกาศจะใช้ภาษีตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ก่อนที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะสร้างความประหลาดใจด้วยการขยายเวลาออกไป 90 วัน ยกเว้นเพียงจีนชาติเดียว ล่าสุด ยุโรปได้แสดงความยินดีกับการตัดสินใจครั้งนี้ โดยระบุว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะหนุนเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก ซึ่งยุโรปเอง ก็พร้อมจะยกเลิกภาษีที่เตรียมไว้ตอบโต้เช่นกัน

“เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) สหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ในการระงับการเก็บภาษีนำเข้ากับหลายสิบประเทศชั่วคราวนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลก ซึ่ง EU ยินดีกับการตัดสินใจครั้งนี้ และกล่าวว่า EU ยังคงมุ่งมั่นเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าให้เกิด "การค้าที่ไร้อุปสรรคและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย"

โดย“ฟอน เดอร์ เลเยน” ย้ำว่า กำแพงภาษี จะส่งผลเสียต่อทั้งธุรกิจและผู้บริโภค ขณะที่เงื่อนไขการค้าที่ชัดเจนและคาดการณ์ได้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การค้าและห่วงโซ่อุปทานดำเนินไปได้ ซึ่ง EU พร้อมเรียกร้องอีกครั้งให้มี "ข้อตกลงภาษีนำเข้าเป็นศูนย์" ระหว่าง EU กับสหรัฐฯ

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการพักเก็บภาษีนำเข้าของ “ทรัมป์” ไม่ครอบคลุมถึงภาษีเดิมที่ใช้กับรถยนต์ เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ดังนั้น EU เอง จึงยังคงมีแผนเดินหน้าใช้มาตรการตอบโต้ชุดแรกต่อภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมในสัปดาห์หน้า แม้ว่าฟอน เดอร์ เลเยน จะไม่ได้กล่าวถึงมาตรการตอบโต้ดังกล่าวในแถลงการณ์ล่าสุดก็ตาม  

“ฟอน เดอร์ เลเยน” ยังกล่าวด้วยว่า ยุโรปยังคงให้ความสำคัญกับการขยายคู่ค้าให้หลากหลาย ควบคู่ไปกับการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ยังคงมีอยู่ภายในตลาด EU ขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้โอกาสสำหรับการเจรจาด้วย แต่หากการเจรจาไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ EU ก็จะใช้มาตรการตอบโต้โดยทันที

จับตา “พายุเงินเฟ้อ” หลัง “ทรัมป์” สั่งขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 10

เงินเฟ้อเดือนล่าสุดของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์เอาไว้ทุกรายการ แต่สถานการณ์ดังกล่าว ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า “นี่คือความสงบก่อนพายุเงินเฟ้อ” จะตามมา จากมาตรการขึ้นภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่จะเริ่มส่งผลกระทบผ่านระบบเศรษฐกิจ 

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมีนาคม พบว่าดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 และลดลงจากร้อยละ  2.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนถ้าเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวลงร้อยละ  0.1 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นร้อยละ  0.1 

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ร้อยละ  3.0 และลดลงจากร้อยละ 3.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้นร้อยละ  0.1 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ร้อยละ 0.3 ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน

รายงานระบุว่า ขณะนี้ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังไม่พบผลกระทบมากนัก หลังรัฐบาล "โดนัลด์ ทรัมป์"  เริ่มจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่แนวโน้มอาจเปลี่ยนไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากภาษีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่งจะเรียกเก็บกับสินค้านำเข้าในอัตราร้อยละ 10 จากประเทศส่วนใหญ่ เริ่มส่งผลกระทบผ่านระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน การลดลงของราคาบริการอย่างที่พักโรงแรมและค่าโดยสารเครื่องบิน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้บริโภคบางกลุ่ม เริ่มลดการใช้จ่ายในสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็น

ด้าน "เดวิด เคลลี่" หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกของ "JP Morgan Asset Management" กล่าวกับ "Bloomberg" ว่า “นี่คือความสงบก่อนพายุเงินเฟ้อ” และแน่นอนว่าสหรัฐฯ กำลังจะเจอกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากผลของภาษีเหล่านี้ 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง