รีเซต

ส่องผลงานทรัมป์ 100 วัน ฉีกทุกความพยายามหยุดโลกร้อน

ส่องผลงานทรัมป์ 100 วัน ฉีกทุกความพยายามหยุดโลกร้อน
TNN ช่อง16
1 พฤษภาคม 2568 ( 11:00 )
14

100 วันแรกของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง ได้เปลี่ยนบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลกอย่างสิ้นเชิงในด้านการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จากการปลดเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ยกเลิกกฎระเบียบสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิล บทความนี้สรุปมาตรการสำคัญที่รัฐบาลใหม่ของทรัมป์ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม และผลกระทบต่อชาวอเมริกันรวมถึงคนทั่วโลก


ความเปลี่ยนแปลงในทันที: พลังงานฟอสซิลคืนชีพ

ทรัมป์ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติ” ในวันสาบานตนเป็นประธานาธิบดี พร้อมยกเลิกข้อห้ามการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อาร์กติกกว่า 40.46 ล้านไร่ และพื้นที่ชายฝั่งทะเลอีก 1.58 พันล้านไร่ การกระทำเหล่านี้สวนทางกับทิศทางของโลกที่พยายามลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อน


รัฐบาลยังสั่งยกเลิกการชะลอการอนุมัติการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เดิมรัฐบาลไบเดนประกาศหยุดไว้เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่งผลการศึกษาระบุชัดว่า การขยายการส่งออกพลังงานฟอสซิลจะส่งผลเสียทั้งต่อเศรษฐกิจในประเทศและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และในเดือนเมษายน ทรัมป์ยังลงนามคำสั่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมถ่านหิน อนุญาตให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าที่มีกำหนดจะปิดตัวกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง และให้หน่วยงานของรัฐทบทวนนโยบายใด ๆ ที่อาจขัดขวางการลงทุนในถ่านหิน

ลดบทบาทพลังงานสะอาดและยกเลิกกองทุน IRA

นอกจากส่งเสริมพลังงานฟอสซิลแล้ว รัฐบาลใหม่ยังหยุดการอนุมัติใบอนุญาตพลังงานลมทั้งในทะเลและบนบก และสั่งระงับการเบิกจ่ายงบประมาณจากกฎหมาย Inflation Reduction Act หรือ IRA ที่รัฐบาลไบเดนผลักดันไว้เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดมูลค่ากว่า 369,000 ล้านดอลลาร์ แม้ศาลสั่งให้รัฐบาลคืนงบประมาณที่ได้อนุมัติไว้แล้ว รัฐบาลก็ยังชะลอการดำเนินการอย่างเห็นได้ชัด


การยกเลิกกฎระเบียบสิ่งแวดล้อม

สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งการทบทวนกฎหมายที่เคยรับรองว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การยกเลิกมาตรฐานคุณภาพอากาศ มาตรฐานการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และกฎที่ควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมพลังงาน นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า กฎระเบียบเหล่านี้คือแนวป้องกันสุดท้ายของอากาศ น้ำ และดินในสหรัฐฯ และการรื้อถอนจะทำให้ชาวอเมริกันเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายงานจาก Environmental Protection Network คาดการณ์ว่า มลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นจากการยกเลิกกฎระเบียบเหล่านี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 200,000 ราย และเกิดโรคหอบหืดวันละมากกว่า 10,000 ครั้ง


ทำลายการคุ้มครองสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และทะเล

รัฐบาลทรัมป์ยังเสนอการแก้ไขกฎหมาย Endangered Species Act เพื่อลดอำนาจในการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงการเปิดพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล Pacific Island Heritage National Marine Monument เพื่อทำการประมงเชิงพาณิชย์

ส่งเสริมการตัดไม้ ลดพึ่งพาแคนาดา

จากความตึงเครียดทางการค้ากับแคนาดา ทรัมป์เร่งให้เปิดพื้นที่ป่าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อเร่งการทำไม้ ลดการนำเข้าจากแคนาดา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อุทกภัย และภัยธรรมชาติจากการตัดไม้ทำลายป่า


การปลดพนักงานครั้งใหญ่ ทำลายระบบวิทยาศาสตร์

ภายใน 100 วันแรก รัฐบาลทรัมป์ปลดเจ้าหน้าที่หลายหมื่นคนจากหน่วยงานสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EPA, NOAA, Forest Service และ USAID ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพยากรณ์อากาศ งานวิจัยสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้รับมือกับภัยธรรมชาติ อย่างที่ NOAA มีพนักงานถูกปลดหรือลาออกกว่า 1,000 คน และอีก 1,000 คนอาจถูกเลิกจ้างเร็ว ๆ นี้ ซึ่งอาจกระทบต่อบริการที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ มหาสมุทร การประมง และการคุ้มครองสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์


ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส

ทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐฯ จาก ความตกลงปารีส อย่างเป็นทางการในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าเป็น “ข้อตกลงที่ไม่ยุติธรรมและเอาเปรียบสหรัฐฯ” การถอนตัวครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่อยู่นอกข้อตกลงสำคัญฉบับนี้ ร่วมกับอิหร่าน ลิเบีย และเยเมน องค์กรสิทธิมนุษยชนเตือนว่า การถอนตัวของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ ถอนตัวตาม และบ่อนทำลายความพยายามร่วมกันในการควบคุมโลกร้อน


ดังนั้น จะเห็นว่า 100 วันแรกของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง คือช่วงเวลาของการย้อนกลับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ การดำเนินการอย่างรวดเร็วและกว้างขวางไม่เพียงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ แต่ยังสะเทือนถึงความร่วมมือด้านภูมิอากาศระดับโลกในห้วงเวลาที่วิกฤตโลกร้อนรุนแรงขึ้นทุกวัน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง