แผลหายไวด้วยที่ปิดแผลไฟฟ้า เล็กจิ๋วและซึมหายไปเองได้
นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยด้านวิศวกรรมการฟื้นฟูขั้นสูง (Advanced Regenerative Engineering) มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น (Northwestern University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สร้างที่ปิดแผลในลักษณะของวงจรไฟฟ้าขนาดเล็กขึ้นมา โดยเคลมว่าสามารถช่วยสมานแผลได้เร็วกว่าที่ปิดแผลปกติถึง 30% จากการทดสอบในหนูทดลอง และสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังโดยไม่เป็นอันตราย รวมถึงยังส่งข้อมูลการรักษาแผลได้อีกด้วย
ที่ปิดแผลดังกล่าวมีรูปร่างคล้ายดอกไม้ที่มีขนาดเล็กและไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ในการทำงาน เพียงแค่นำไปแปะบริเวณบาดแผลเท่านั้น แผงวงจรที่ทำจากธาตุโมลิบดีนัม (Molybdenum) ซึ่งเป็นธาตุโลหะกินได้ที่ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์จะทำการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าจากร่างกายมนุษย์มากระตุ้นการสมานแผล หรือเรียกว่าวิธีแบบกระแสไฟฟ้าบำบัด (Electrotherapy)
ในขณะเดียวกัน กระแสไฟฟ้าที่ได้จากร่างกายก็จะนำไปหล่อเลี้ยงวงจรส่งสัญญาณข้อมูลที่อยู่ปลายอีกด้านของที่ปิดแผลเพื่อส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์และอ่านค่าความต้านทานของตัวแผล เพราะแผลที่ยังไม่หายจะมีค่าความต้านทานทางไฟฟ้าที่สูงกว่าผิวหนังปกติ เป็นการแจ้งเตือนแพทย์ผู้ดูแลให้เข้ามาวินิจฉัยอาการเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ การใช้โลหะโมลิบดีนัม (Molybdenum) ยังสามารถซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังมนุษย์และกลายเป็นส่วนหนึ่งของผิวหนังหรืออวัยวะได้โดยไม่เป็นพิษกับร่างกาย เพราะการใช้ที่ปิดแผลทั่วไปมีโอกาสทำให้ผิวหนังหรือแผลกลับมาติดเชื้อใหม่ได้เมื่อถอดที่ปิดแผลออก ดังนั้นที่ปิดแผลไฟฟ้าจะแก้ปัญหาในจุดนี้ด้วยเช่นกัน
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการไซแอนซ์ แอดวานซ์ส (Science Advances) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเตรียมนำไปต่อยอดกับผู้ป่วยเบาหวานที่มักประสบปัญหาแผลหายช้าจนเกิดอาการแผลเน่า ซึ่งถ้างานวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จก็จะลดปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกได้เป็นอย่างมากในอนาคต
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ Northwestern University