ทำไมแผ่นดินไหวเมียนมาจึงมีความรุนแรงสูงอธิบายความเสียหายด้วยวิทยาศาสตร์

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาขนาด 7.7 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ เขตสะกาย ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ของประเทศเมียนมาร์ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางในเมียนมาร์ และรับรู้แรงสั่นสะเทือนไปถึงประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่าประเทศเมียนมาตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซีย ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในระดับสูง แม้ว่าบริเวณเขตสะกายจะไม่ใช่จุดที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บ่อยครั้งก็ตาม
โจแอนนา ฟอเร วอล์กเกอร์ (Joanna Faure Walker) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจาก University College London อธิบายว่า "รอยเลื่อนหลักในเมียนมาพาดผ่านประเทศในแนวเหนือ-ใต้ โดยแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซียมีการเลื่อนตัวในแนวนอนด้วยความเร็วต่างกัน การเลื่อนตัวในลักษณะนี้มักก่อให้เกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงน้อยกว่าแผ่นดินไหวแบบมุดตัว เช่น ในกรณีของสุมาตรา แต่ก็สามารถรุนแรงถึงระดับ 7 ถึง 8 ได้เช่นกัน"
เหตุใดแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงสร้างความเสียหายรุนแรง ?
แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของเมียนมาร์ในรอบ เกือบ 75 ปี ตามความเห็นของ ศาสตราจารย์บิล แม็กไกวร์ (Bill McGuire) จาก University College London
โรเจอร์ มัสสัน (Roger Musson) นักวิจัยกิตติมศักดิ์จากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ให้ข้อมูลว่า "แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นในระดับความลึกเพียง 10 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นระดับตื้น ส่งผลให้พลังงานจากจุดศูนย์กลางไม่สามารถสลายตัวก่อนถึงพื้นผิวได้ ทำให้สิ่งปลูกสร้างต้องรับแรงสั่นสะเทือนโดยตรง"
มัสสันยังเสริมว่า การพิจารณาผลกระทบไม่ควรจำกัดอยู่แค่บริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวเท่านั้น เนื่องจากคลื่นไหวสะเทือนไม่ได้แผ่กระจายจากจุดศูนย์กลางจุดเดียว แต่แผ่กระจายไปตามแนวรอยเลื่อนทั้งหมด
โครงการภัยพิบัติแผ่นดินไหวของ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) คาดการณ์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจอยู่ระหว่าง 10,000 ถึง 100,000 คน และความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจสูงถึง ร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเมียนมา
มัสสันระบุว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลักในครั้งนี้ ได้แก่ เขตสะกาย ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ดังกล่าวแทบไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่เคยเผชิญกับเหตุการณ์ในระดับเดียวกันมานานนับสิบปี โดยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500
“บ้านเรือนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้ทนต่อแรงสั่นสะเทือนระดับนี้ จึงมีโอกาสสูงที่ความเสียหายจะรุนแรงมาก” มัสสันกล่าว และเสริมว่า แผ่นดินไหวส่วนใหญ่ในเมียนมาร์มักเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตก ขณะที่เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นในใจกลางประเทศ