พบ “ปรอท” ปนเปื้อนในชั้นขนของเพนกวินที่ขั้วโลกใต้ นักวิทยาศาสตร์ชี้มาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งนั้น

ผลการศึกษาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rutgers ของสหรัฐอเมริกา เผยให้เห็นว่าในชั้นขนของเพนกวินซึ่งอาศัยอยู่ในคาบสมุทรแอนตาร์กติกาทางตะวันตกของขั้วโลกใต้มี “สารปรอท” ตกค้างอยู่ แม้ว่าพื้นที่แห่งนี้จะอยู่ห่างไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก็ตาม
งานวิจัยนี้ถูกเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science of the Total Environment โดยวิเคราะห์ขนของเพนกวิน 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ เพนกวินอาเดลี เพนกวนเจนทู และแพนกวินชินสแตรป ตั้งแต่ฤดูผสมพันธุ์ในปี 2010-2011 พบว่าในชั้นขนของเพนกวินชินสแตรปมีระดับปรอทสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อย่างชัดเจน
นักวิทยาศาสตร์ระบุถึงสาเหตุที่ขนของเพนกวินชินสแตรปมีระดับปรอทสูงกว่าเพนกวินสายพันธุ์อื่นๆ มาจากพฤติกรรมการอพยพโดยเพนกวินชินสแตรปจะเดินทางไปยังละติจูดต่ำในช่วงฤดูหนาว ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการสะสมปริมาณปรอทสูง แม้ว่าพื้นที่ในมหาสมุทรตอนใต้จะไม่มีแหล่งปล่อยมลพิษโดยตรง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าปรอทจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งการเผาถ่านหิน การทำเหมืองทองคำขนาดเล็กสามารถแพร่กระจายผ่านชั้นบรรยากาศได้ การทำเหมืองทองคำต้องใช้ปรอทในการสกัดทอง ส่งผลให้ปรอทปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมากกว่า 1,000 ตันต่อปี
แต่อย่างไรก็ตามผลการศึกษาจาก MIT ในปี 2024 พบว่าระดับปรอทในชั้นบรรยากาศลดลงไปจากเดิมถึง 10% ในปี 2005-2020 ซึ่งเป็นช่วงที่มีนโนบายปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก การศึกษาการปนเปื้อนของสารปรอทในขนเพนกวินครั้งนี้มีส่วนสำคัญที่ต่อการทำแผนที่พื้นที่ที่มีการปนเปื้อนปรอทในธรรมชาติซึ่งส่งผลกระทบกับสัตว์ทะเลในทั่วโลก และอาจเกิดการสะสมในสัตว์ที่อยู่บนห่วงโซ่อาหาร