รีเซต

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ใครคือ คามาลา แฮร์ริส?

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ใครคือ คามาลา แฮร์ริส?
มติชน
25 สิงหาคม 2563 ( 01:42 )
92
คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ใครคือ คามาลา แฮร์ริส?

หากทีมผู้สมัครที่เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้

คามาลา แฮร์ริส จะกลายเป็นรองประธานาธิบดีสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นรองประธานาธิบดีผิวดำ และเป็นรองประธานาธิบดีที่มีเอเชียนอเมริกันคนแรกไปพร้อมๆ กัน

 

นักกฎหมายจากฮาร์วาร์ดที่เคยเป็นอดีตอัยการเขต ซานฟรานซิสโก ที่สามารถก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัยการใหญ่แห่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้สำเร็จในเวลาต่อมา ก่อนที่ผันตัวมาลงเล่นการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

 

แม้จะยังคงเป็นเพียงสมาชิกสภาคองเกรส สมัยแรก ซีเนเตอร์แฮร์ริสกล้าและมั่นใจถึงขนาดสมัครลงแข่งขันเลือกตั้งภายในเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันปีนี้

 

ก่อนจะกลายมาเป็นผู้สมัครคู่ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ของ โจ ไบเดน ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการในเวลานี้

 

บิดา ของแฮร์ริส โดนัลด์ แฮร์ริส เป็นชาวจาเมกา ศยามาลา โฆลาปัน ผู้เป็นมารดา เป็นชาวเมืองเชนไน ทางตอนใต้ของอินเดีย

 

ทั้งสองพบกันขณะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ เมื่อราวต้นทศวรรษ 1960 โดนัลด์เรียนเศรษฐศาสตร์ ในขณะที่ศยามาลา ศึกษาด้านโภชนาการและโรคต่อมไร้ท่อ

 

กลิ่นอายของเสรีภาพและการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในมหาวิทยาลัยยุค “บุปผาบาน” ดึงดูดทั้งหนุ่มสาวเข้าหาการชุมนุมประท้วงสารพันที่ระเบิดขึ้นโดยรอบมหาวิทยาลัยในยุคนั้น ตั้งแต่สิทธิพลเมือง ไปจนถึงสงครามเวียดนามและสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

 

โดนัลด์ กับ ศยามาลา พบพานกันในขบวนการเรียกร้องของยุคนั้น รักแล้วก็แต่งงานกัน

 

สองปีให้หลัง ทั้งคู่มีลูกเล็กๆ 2 คน หนึ่งคือ คามาลา อีกหนึ่งคือ มายา แต่แม้จะมีภาระผูกพันถึงขนาดนั้นทั้งคู่ก็ยังไม่หยุดยั้งการชูกำปั้นประท้วง ฝ่ากระแสท่อดับเพลิงและชวนกันหลบหนีในยามที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นตามมา

 

คามาลา อายุได้ 5 ขวบตอนที่โดนัลด์กับศยามาลาหย่าร้างกัน ผู้เป็นแม่แบกรับภาระเลี้ยงดูลูกทั้งสอง ระหว่างทำงานอยู่กับห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอว์เรนซ์เบิร์กลีย์

 

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมอิทธิพลของผู้เป็นมารดาต่อคามาลา ถึงได้มากมายมหาศาลนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเป็นนักสู้ นักพูด ที่ไม่เพียงแค่เอ่ยปากพูดเท่านั้น ยังลงมือทำอีกด้วย

 

คามาลาบอกในการปรากฏตัวคู่กับไบเดนเป็นครั้งแรกเมื่อเร็วๆ นี้ ไว้ว่า

“แม่มักบอกพวกเราว่า ‘อย่าเอาแต่นั่งเฉยบ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้ ต้องลงมือทำ’ ฉันเลยต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง”

 

คามาลา แฮร์ริส เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ก็จริง แต่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองและการต่อสู้มามากมาย ส่งผลให้มีองค์ความรู้ มีประสบการณ์กว้างขวาง ตั้งแต่การเป็นปากเป็นเสียงแทนครอบครัวผู้ใช้แรงงาน, เป็นหัวหอกในการรณรงค์เพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, การรณรงค์เพื่อสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ฯลฯ

 

สะท้อนถึงความพร้อมในการลงมือทำงานทางการเมืองในระดับสูงสุดได้เป็นอย่างดี

ศิการ นาราสิมหัน ประธานและผู้ก่อตั้ง เอเอพีไอ วิคตอรี ฟันด์ กลุ่มรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียออกมาลงคะแนนเสียง ยอมรับว่าอาจมีบางคนที่บอกว่าคามาลา ไม่ดำมากพอ แล้วก็อาจมีอีกบางคนบอกว่า เธอไม่ได้เป็นอินเดียมากพอ

 

“แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เธอนำทุกอย่างทั้งหมดนั่นขึ้นมาแสดงให้เห็น และนี่แหละที่ทำให้ผมคิดว่าเธอเป็นอเมริกันที่แท้จริง”

เอมี พีระ ส.ส.เดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีพ่อกับแม่อพยพมาจากอินเดียโดยตรง ยืนยันว่า การที่ คามาลา แฮร์ริส ได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณออกไปสู่สังคมอเมริกันว่า

 

คนธรรมดาสามัญ “เหมือนๆ กับทุกคนทั่วไป” ก็สามารถอยู่ในตำแหน่งรับผิดชอบสูงสุดได้

ในสหรัฐอเมริกา มีอเมริกันที่มีเทือกเถาเหล่ากอมาจากอินเดียอยู่มากมายกว่า 4 ล้านคน โดยรวมแล้วมีแนวโน้มว่า อินเดียนอเมริกันส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง และเป็นกลุ่มประชากรที่ยึดถือและเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์

 

ศูนย์วิจัย พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ ระบุว่า อินเดียนอเมริกันจัดเป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยมีค่ามัธยฐานของรายได้ครัวเรือนอยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์ โดยประมาณ

 

ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ คามาลา แฮร์ริส มาโดยตลอดเชื่อว่า อย่างน้อยที่สุด สหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในสองทาง หาก ไบเดน-แฮร์ริส ได้รับเลือกตั้ง หนึ่งคือ นโยบายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และนโยบายว่าด้วยผู้อพยพ

 

แฮร์ริสเคยปะทะกับทรัมป์อย่างหนัก โจมตีความเป็นชาตินิยม ท้องถิ่นนิยมของทรัมป์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะแนวนโยบายการ “จับทารกใส่กรง”

 

เคยประกาศแนวนโยบายใช้เงินมหาศาล 10 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อรังสรรค์ เศรษฐกิจสีเขียวขึ้นในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือบรรดาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบรรลุถึงเป้าหมายของความตกลงปารีส

 

“สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องเป็นผู้นำของโลกในการลงมือทำอย่างกล้าหาญเพื่อปกปักรักษาโลกของเราและอนาคตของเราไว้” เธอบอก

 

คามาลาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการเมืองที่แม้จะยังเล็ก แต่นับว่ามีอิทธิพลมากขึ้นตามลำดับ ที่เรียกว่า “ซาโมซา คอคัส” ในสภาคองเกรส

 

ซาโมซา คอคัส คือกลุ่มสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาที่มีเชื้อสายอินเดีย ของพรรคเดโมแครต ซึ่งในเวลานี้มีจำนวนเพียง 5 คน แต่เชื่อว่าคงขยายตัวมากยิ่งขึ้นเมื่อผ่านเลือกตั้งปลายปีนี้ไปแล้ว

 

ซึ่งเป็นการสะท้อนแนวโน้มประการหนึ่งที่เห็นชัดเจนในโลกตะวันตกในยามนี้

นั่นคือการผงาดขึ้นสู่วงจรอำนาจของนักการเมืองเชื้อสายอินเดียในชาติตะวันตกทั้งหลาย

 

ในสหรัฐอเมริกาเอง ไม่ได้มีแต่พรรคเดโมแครตเท่านั้นที่มีนักการเมืองเชื้อสายเอเชียใต้จากอินเดียเข้าไปมีบทบาทสำคัญ นิกกี ฮาลีย์ อดีตเอกอัครราชทูตถาวรประจำสหประชาชาติของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยเป็นผู้ว่าการรัฐเซาธ์แคโรไลนา ก็มีเชื้อสายเอเชียใต้

 

บ็อบบี จินดาล อดีตผู้ว่าการรัฐลุยเซียนา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในการลงเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็เป็นลูกหลานของผู้อพยพจากอินเดีย

 

ความรู้สึกทึ่งจะเพิ่มมากขึ้นหากกวาดตาไปทั่วโลก ในแคนาดา คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด มีรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายซิกข์ มากกว่าในคณะรัฐมนตรีของ นเรนทรา โมดี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียเสียด้วยซ้ำไป

 

ในยุโรป การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ของผู้คนที่สืบเชื้อสายจากเอเชียใต้ยิ่งน่าสนใจ

นายกรัฐมนตรี ลีโอ วารัดการ์ อดีตนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ก็เป็นลูกครึ่งอินเดีย ผู้เป็นบิดาอพยพมาจากบอมเบย์ หรือมุมไบในเวลานี้

 

นายกรัฐมนตรี อันโตนิโอ คอสตา ของโปรตุเกส ก็มีบิดาที่มีเชื้อสายกัว (รัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย) ที่เกิดในประเทศโมซัมบิก นายกรัฐมนตรีโปรตุเกสผู้นี้ เพิ่งได้รับรางวัล “ประวาสี ภราติยะ สัมมาณ” รางวัลเชิดชูสูงสุดสำหรับสมาชิกชุมชนชาวอินเดียโพ้นทะเล เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมานี่เอง

 

ในประเทศอังกฤษ ริชี ซูแนค รัฐมนตรีคลังในรัฐบาล ที่ว่ากันว่าเป็นทายาททางการเมือง สืบทอดตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ก็เป็นลูกของผู้อพยพฮินดู จากรัฐปันจาบ ซึ่งเกิดในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในแอฟริกา ปรีติ ปาเทล รัฐมนตรีมหาดไทยของอังกฤษ ก็เป็นบุตรีของชาวอินเดียนับถือศาสนาฮินดูและเป็นคนที่เกิดในแอฟริกาเช่นเดียวกัน

 

ทั้งหมดนี้อาจสะท้อนถึงข้อเท็จจริงง่ายๆ ที่ว่า ภูมิภาคเอเชียใต้ มีประชากรมากถึงราว 1 ใน 5 ของมนุษยชาติทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงกระจัดกระจายออกไปทั่วโลกเท่านั้น

 

หากแต่ยังเป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จและมีนัยสำคัญในสังคมที่คนเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยอีกต่างหาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง