รู้จัก “ระเบิดฟอสฟอรัสขาว” อาวุธเคมีต้องห้าม สุดอันตราย
องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน รายงานว่าอิสราเอลได้ใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวในการโจมตีฉนวนกาซาและตอนใต้เลบานอน โดยได้ตรวจสอบวิดีโอการโจมตีเลบานอนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม และโจมตีฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งแสดงให้เห็น การระเบิดของฟอสฟอรัสขาวที่ยิงด้วยปืนใหญ่หลายครั้งเหนือท่าเรือฉนวนกาซา และในชนบท 2 แห่งตามแนวชายแดนทางตอนเหนืออิสราเอล - ทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงว่านี่ถือเป็นการที่อิสราเอลทำผิดหลักสากล ที่กำหนดโดยสหประชาชาติ (UN) หรือไม่ ?
ทั้งนี้อิสราเอลเคยใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวโจมตีฉนวนกาซามาแล้วในช่วงปี 2008 - 2009 ซึ่งในปี 2013 ก็ได้บอกว่าจะยุติการใช้ฟอสฟอรัสขาวแล้ว แต่เหมือนวิดีโอเหล่านี้จะสร้างข้อกังขาให้นานาประเทศอีกครั้ง ในขณะที่ปัจจุบันกองทัพอิสราเอลก็ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีข้อสงสัยเรื่องการใช้ฟอสฟอรัสขาวในสถานการณ์ปัจจุบัน
แล้วระเบิดฟอสฟอรัสขาวคืออะไร ?
ฟอสฟอรัสขาวเป็นสารเคมีที่มีผลึกคล้ายขี้ผึ้ง สีขาว - เหลืองใส เมื่อโดนแสงจะเปลี่ยนสีเข้มขึ้น กลิ่นฉุนเหมือนไม้ขีดหรือกระเทียม มันเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการสูดดม กิน หรือสัมผัส ควันสามารถปนเปื้อนทางอากาศ รวมถึงสามารถปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง
ฟอสฟอรัสขาวไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ผลิตจากหินฟอสเฟต กองทัพทั่วโลกมักนำมาใช้เพื่อสร้างควันกำบัง เพราะมันสร้างควันสีขาวขุ่นได้อย่างมาก ทั้งนี้มันจะติดไฟเมื่อสัมผัสกับออกซิเจน และจะยังคงเผาไหม้ต่อไปจนกว่าออกซิเจนจะหมด หรือสารตั้งต้นจะหมด ปฏิกิริยาเคมีนี้สามารถสร้างความร้อนสูงประมาณ 815 องศาเซลเซียส ทั้งยังเกิดแสงและเกิดควันจำนวนมาก
สารเคมีชนิดนี้ยังสามารถเผาคนได้ทั้งจากความร้อนและสารเคมีจนถึงกระดูก เพราะว่ามันละลายได้ดีในไขมันและในเนื้อมนุษย์ หากเข้าสู่กระแสเลือดก็อาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวได้ สำหรับบาดแผลที่เกิดจากฟอสฟอรัสขาวแล้วพันผ้าพันแผลไว้ เมื่อเปิดผ้าพันแผลออกและฟอสฟอรัสขาวสัมผัสกับอากาศอีกครั้ง มันก็จะเผาเนื้อหนังต่อไปได้ แม้แผลเล็กน้อยก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่หากรอดชีวิต บริเวณที่สัมผัสฟอสฟอรัสขาวก็จะเกิดแผลเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงอาจทำให้เกิดความพิการ รวมถึงส่งผลกระทบต่อจิตใจด้วย
ในปี 1972 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ตัดสินใจเรียกอาวุธชนิดนี้ว่า “อาวุธที่น่าสยดสยอง”
ปี 1980 ฟอสฟอรัสขาวถือเป็นอาวุธต้องห้ามในระดับสากลภายใต้อนุสัญญาเจนีวาปี 1980 เนื่องจากสร้างความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง
ทั้งนี้องค์กรเพื่อการห้ามอาวุธเคมี (The Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่คอยพิจารณาอาวุธเคมี ไม่ได้ระบุว่าฟอสฟอรัสขาวเป็นอาวุธเคมีประเภทใดเลย แต่ทั้งนี้มีกฎหมายระหว่างประเทศห้ามใช้ฟอสฟอรัสขาวในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม แต่อนุญาตให้ใช้ในพื้นที่เปิดโล่งเพื่อใช้เป็นที่กำบังของกองกำลังทหารได้ ดังนั้นหากใช้ในพื้นที่พลเรือนจะถือเป็นอาชญากรรมสงคราม
การใช้อาวุธฟอสฟอรัสขาวในสงครามครั้งก่อนหน้านี้
ปี | กลุ่มและประเทศที่ใช้ | ที่โดนโจมตี |
2004 | สหรัฐอเมริกา | อิรัก |
2007 | กองกำลังป้องกันเอธิโอเปีย | โซมาเลีย |
2005 - 2011 | ISAF และตาลีบัน | อัฟกานิสถาน |
2008 - 2009 | อิสราเอล | ฉนวนกาซา |
2016 | ซาอุดิอาระเบีย | เยเมน |
2017 | กองทัพพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ | กองกำลังไอเอสในอิรักและซีเรีย |
ทั้งนี้ในปี 2022 ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ของยูเครน ได้กล่าวหาว่ารัสเซียใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวโจมตีประชาชนในยูเครน แต่ทางรัสเซียก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น
หากอิสราเอลใช้ฟอสฟอรัสขาวในการโจมตีพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นในฉนวนกาซาจริง ก็จะถือเป็นการละเมิดข้อกำหนดภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในการใช้มาตรการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บและการเสียชีวิตของพลเรือนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ที่มาข้อมูล : Wionews, HRW, Reuters
ที่มารูปภาพ : Vimeo, HRW, Wikipedia, NLG-steampunk.blogspot, Reuters