รีเซต

รถสำรวจ Zhurong พบชายหาดยุคดึกดำบรรพ์ บนดาวอังคาร

รถสำรวจ Zhurong พบชายหาดยุคดึกดำบรรพ์ บนดาวอังคาร
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2568 ( 12:05 )
13

เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยข้อมูลหลังรถสำรวจจู้หรง (Zhurong) ของจีนตรวจพบร่องรอยชายหาดยุคดึกดำบรรพ์บนดาวอังคาร ซึ่งในปัจจุบัน พื้นผิวดาวอังคารมีสภาพเป็นทะเลทรายอันหนาวเย็นที่เต็มไปด้วยหินและฝุ่น แต่เมื่อ 4 พันล้านปีก่อน พื้นผิวดาวอังคารเคยมีทั้งแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรที่มีหาดทราย จากการตรวจพบเนินทรายที่วางตัวเป็นแนวลาดในลักษณะเดียวกันกับชายหาด ซึ่งอยู่ใต้พื้นผิวลึกลงไปประมาณ 10 เมตร และอาจถูกชะล้างโดยคลื่นในมหาสมุทร จนทำให้หาดทรายแห่งนี้ถูกทับถมอยู่ใต้พื้นผิวบริเวณนี้

แม้โครงสร้างพวกนี้ดูไม่เหมือนเนินทรายทั่วไปในทะเลทราย หลุมอุกกาบาต หรือลาวาหลาก เราจึงเริ่มนึกถึงหาดทรายของมหาสมุทร” Michael Manga ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โลกและดาวเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ในสหรัฐฯ และผู้ร่วมวิจัยในงานวิจัยครั้งนี้กล่าว “ทิศทางการวางตัวของเนินทรายที่ค้นพบนี้ น่าจะขนานไปกับแนวชายฝั่งเก่า โดยทั้งทิศทางการวางตัวและค่าความลาดชัน ต่างสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า บริเวณนี้อาจเคยมีมหาสมุทร และคงอยู่เป็นเวลานานมากเพียงพอจนสามารถเกิดการสะสมตัวเป็นหาดทรายได้

รถสำรวจจู้หรงใช้เวลาประมาณ 1 ปี (พฤษภาคม ค.ศ.2021 - พฤษภาคม ค.ศ.2022) สำรวจไปตามขอบของ “ที่ราบต่ำยูโทเปีย” (Utopia Planitia) ซึ่งเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตอย่างรุนแรง จนเกิดพื้นที่ราบขนาดกว้าง 3,300 กิโลเมตร นับเป็นหนึ่งในหลุมอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าที่ราบต่ำยูโทเปียอาจเคยเป็นมหาสมุทรบนดาวอังคารมาก่อน และแนวเนินลาดชันที่อยู่ตามแนวเส้นทางของรถสำรวจจู้หรงอาจเคยเป็นแนวชายฝั่ง ก่อนที่ผลการค้นพบล่าสุดจากรถสำรวจจู้หรง จะช่วยสนับสนุนว่าบริเวณนี้เมื่อในอดีต อาจเป็นมหาสมุทรของดาวอังคาร

ตามแนวเส้นทางสำรวจกว่า 1.9 กิโลเมตร รถสำรวจจู้หรงได้ใช้ระบบเรดาร์ที่สามารถส่องผ่านพื้นดินทะลุลงไปถึงระดับ 80 เมตรใต้พื้นผิวดาว ที่ช่วยแสดงให้เห็นลักษณะต่าง ๆ ใต้ดิน เช่น แนวรอยต่อระหว่างชั้นหิน-ชั้นตะกอน ซึ่งในระดับความลึก 10 เมตร ข้อมูลจากเรดาร์เผยให้เห็นชั้นทรายเรียบที่ลาดเอียงหนาไม่กี่เมตร ชั้นเหล่านี้ปรากฏขนานไปกับแนวหินลาดชัน และยกตัวสูงสอดคล้องไปกับแนวหินดังกล่าวด้วยมุมประมาณ 15 องศา สอดคล้องกับมุมลาดเอียงโดยทั่วไปของชายหาดบนโลก

การค้นพบในครั้งนี้เป็นหลักฐานแรก ๆ ที่สนับสนุนว่าดาวอังคารเคยมีมหาสมุทรเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว และมหาสมุทรจะต้องคงสภาพอยู่นานอีกหลายล้านปี ซึ่งนานพอจะทิ้งร่องรอยเป็นชั้นทรายหนาแบบที่เรดาร์ของรถสำรวจจู้หรงตรวจพบ การที่ดาวอังคารมีมหาสมุทรก็อาจจะต้องมีโครงสร้างของแม่น้ำเป็นส่วนประกอบ ที่พัดพาตะกอนมาทับถมกันในมหาสมุทร และคลื่นในมหาสมุทรช่วยพัดตะกอนเหล่านี้ให้กระจายและเกิดแนวตะกอนทับถมตามแนวชายฝั่ง ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับที่เกิดชายหาดบนโลกของเรา

“แนวชายฝั่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีมากในการหาหลักฐานที่บ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตในอดีต” Benjamin Cardenes นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต (Pennsylvania State University) ในสหรัฐฯ และหนึ่งผู้ร่วมวิจัยในงานวิจัยครั้งนี้กล่าว “เราสันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตแรกสุดบนโลกก็ถือกำเนิดขึ้นในลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้ ที่เป็นจุดสัมผัสกับอากาศและมีน้ำตื้น ๆ” (ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งมีชีวิตเริ่มถือกำเนิดบนโลกที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่แนวชายฝั่งเป็นหนึ่งในลักษณะภูมิประเทศที่เป็นไปได้ ร่วมกับปล่องน้ำพุร้อนใต้สมุทร ตามพื้นมหาสมุทรลึก)

นอกจากนี้ การค้นพบของจู้หรงนับว่าเป็น “ความโชคดี” อย่างหนึ่ง เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหาดทรายเช่นนี้ เป็นลักษณะที่ “เปราะบาง” สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากลมพายุ จากการพุ่งชนของอุกกาบาต หรือจากกระบวนการทางภูเขาไฟ ซึ่งสามารถทำให้หาดทรายถูกเปลี่ยนไปจนไม่มีเค้าโครงเดิมได้อย่างง่าย ๆ แต่เนื่องจากหาดทรายแห่งนี้บังเอิญถูกฝังอยู่ในดินลึก 10 เมตร จึงทำให้ยังคงลักษณะของหาดทรายเอาไว้ได้ และทำให้เราค้นพบหลักฐานที่สนับสนุนการมีอยู่ของมหาสมุทรบนดาวอังคารในที่สุด

รายงานการวิจัยเรื่องการค้นพบครั้งนี้ ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิจัย Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 202

ข่าวที่เกี่ยวข้อง