รีเซต

ไขข้อสงสัย ‘นมวัว’ มีสารไดออกซิน ทำให้เกิด ‘โรคมะเร็ง’ จริงหรือไม่?

ไขข้อสงสัย ‘นมวัว’ มีสารไดออกซิน ทำให้เกิด ‘โรคมะเร็ง’ จริงหรือไม่?
TNN ช่อง16
28 มิถุนายน 2565 ( 14:31 )
71
ไขข้อสงสัย ‘นมวัว’ มีสารไดออกซิน ทำให้เกิด ‘โรคมะเร็ง’ จริงหรือไม่?

วันนี้ ( 28 มิ.ย. 65 )ตามที่มีการเผยแพร่คลิปในเว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่อง นมวัวมีสารไดออกซิน ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปในเว็บไซต์ นมวัว โรคภูมิแพ้ สารก่อมะเร็ง ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว และชี้แจงว่า ไดออกซินเป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดไดออกซิน เช่น เตาเผาขยะอันตราย/ขยะติดเชื้อ เตาเผาขยะชุมชน รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เป็นต้น ฉะนั้นสารไดออกซินสามารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านห่วงโซ่อาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการควบคุมการปนเปื้อนของสารไดออกซินในสิ่งแวดล้อมโดยออกประกาศให้เตาเผามูลฝอยเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องควบคุมการปล่อยอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ตลอดจนมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมปริมาณการปล่อยทิ้งอากาศเสียอย่างเข้มงวด 

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนมวัวมีสารไดออกซินปนเปื้อนนั้น จากการสืบค้นข้อมูลรายงานวิจัยในประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลรายงานการปนเปื้อนสารไดออกซินในนมวัวและส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ นอกจากนี้การผลิตภัณฑ์นมวัว จากกระบวนผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร และได้มีการขออนุญาตผลิตอย่างถูกต้องแล้วจาก อย. ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบคุณภาพทั้งในด้านกายภาพ เคมีและทางด้านจุลชีวิทยาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กําหนดโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้นนมวัวยังคงเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเป็นแหล่งโปรตีน แคลเซียม และวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์นมวัว เช่น เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย.สังเกตวันผลิตหรือหมดอายุ ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต้องมีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยรั่วหรือฉีกขาด ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อมาบริโภค หากเป็นผู้ที่แพ้นมวัวสามารถเลือกดื่มนมจากพืชได้ และยังสามารถรับประทานโปรตีนจากแหล่งอื่น ๆ เช่น โปรตีนจากไข่ และปลา เป็นต้น

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลรายงานการปนเปื้อนสารไดออกซินในนมวัวและส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ นอกจากนี้การผลิตภัณฑ์นมวัวจากกระบวนผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร และได้มีการขออนุญาตผลิตอย่างถูกต้องแล้วจาก อย. ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบคุณภาพทั้งในด้านกายภาพ เคมีและทางด้านจุลชีวิทยาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กําหนดโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค


ข้อมูลจาก  : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก :  AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง