รีเซต

อีอีซีเพิ่มศักยภาพไทย ดึงเม็ดเงินลงทุนปีละ 4 แสนล้าน (ตอน10)

อีอีซีเพิ่มศักยภาพไทย ดึงเม็ดเงินลงทุนปีละ 4 แสนล้าน (ตอน10)
TNN ช่อง16
1 เมษายน 2564 ( 12:32 )
96
อีอีซีเพิ่มศักยภาพไทย ดึงเม็ดเงินลงทุนปีละ 4 แสนล้าน (ตอน10)

ในโลกแห่งการลงทุน นักลงทุนต่างพยายามแสวงหาแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในการเติบโต และมอบโอกาสในการสร้างผลตอบแทน รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนมากที่สุดเท่าที่จะมีได้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเรดาห์การลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากแรงดึงดูดในเรื่องทำเลที่เหมาะสมในการเป็นฐานการผลิตและส่งออก ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์การลงทุนทุกมิติ พร้อมพ่วงด้วยสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุนจูงใจมากมาย

สถาบันระดับโลกการันตีถึงศักยภาพของไทยน่าลงทุน

ภาพการเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจของไทย สะท้อนได้จากการที่หลายสถาบันระดับโลก ต่างการันตีถึงศักยภาพของไทยในด้านต่างๆ เช่น ในด้านเศรษฐกิจ Bloomberg study จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่น่าลงทุนที่สุด ในปี 2564 

นอกจากนี้ Bloomberg Survey ยังจัดไทยอยู่ในอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด ขณะที่ Pocket World in Figures 2020 ให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด

ส่วนด้านธุรกิจ US. News & World Report  จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดประจำปี 2563 และอันดับ 2 ของโลกที่น่าเข้ามาลงทุน ประจำปี 2563 รวมทั้งจัดประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศที่ดีที่สุดในการท่องเที่ยวด้านการผจญภัย

ขณะที่ในด้านสาธารณสุข PEMANDU จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุดจากข้อมูลดัชนีโควิดระดับโลก (GCI) นอกจากนั้น Numbeo Survey ยังจัดให้ไทยยังอยู่ในอันดับ 8 ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด ประจำปี 2564

ล่าสุดบริษัท Rating and Investment Information ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของระเทศญี่ปุ่นคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ A- อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ซึ่งการจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในศักยภาพของประเทศไทย ในระดับนานาประเทศ

การลงทุนของไทยยังไม่หยุดนิ่ง 

ทั้งนี้ แม้ในช่วง 1-2 ปีนี้ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ส่งผลให้กิจกรรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง แต่การขับเคลื่อนการลงทุนของไทยยังไม่หยุดนิ่ง แถมยังถูกขับให้มีความเด่นชัดมากขึ้น จากโครงการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่เป็นโครงการอภิมหาโปรเจกต์ของรัฐบาล ซึ่งหวังจะให้เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี  เล่าให้ TNNONLINE ฟังว่า แผนยุทธ์ศาสตร์ในการพัฒนาอีอีซี จะเน้น 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 

1.ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์  ด้วยการทำท่าเรือบก หรือ Dry Port เชื่อมโยงกับตลาดอินโดจีนทั้งหมด เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกได้ลงนามกับเอกชนไปแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินงานของแต่ละโครงการสำหรับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมีมูลค่าลงทุน 224,544.36 ล้านบาท แบ่งเป็นระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา168,718 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,155.27 ล้านบาท และสิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท  ระยะเวลาดำเนินโครงการ 50 ปี คาดว่าจะการก่อสร้างเสร็จปี   2566 – 2567 ปริมาณผู้โดยสาร 147,200 คนต่อเที่ยวต่อวัน โดยผู้ชนะการประมูลคือ กลุ่มลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ที่ได้ จรดปลายปากกาลงนามร่วมกัน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับ กลุ่ม CPH ในวันที่ 24 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา  โดยจัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public – Private - Partnership หรือ PPP ในครั้งนี้ 

2.การพัฒนา 5Gหลังจากที่ติดตั้งสัญญาณไปแล้ว 80% ดึงนิคมอุตสาหกรรม โรงแรม ชุมชน พื้นที่ EEC ให้มาใช้งาน 5G โดยตั้งเป้าอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าจะไปถึง 5 แสนล้านบาท

3.การผลักดันธุรกิจการแพทย์ของไทยให้ก้าวสู่การเป็น Medical Hub ของภูมิภาค ด้วยการตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ เริ่มต้นคนไทย 50,000 ตัวอย่าง การสร้างโรงพยาบาลบุคลากร ยา และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย การแพทย์ที่แม่นยำ

และ 4.BCG Economyหรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือปัจจัยที่จะเข้ามาสนับสนุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดขึ้น เชื่อว่าจะเกิดการดึงดูดการลงทุนในอนาคต อย่างน้อยปีละ 4 แสนล้านบาท  

การเข้ามาปฏิรูปการลงทุนครั้งนี้ นอกจากเป็นการสร้างแม่เหล็กดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาในไทยแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน  และการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตอีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง