"ต่างชาติ" ลงทุนไทย 4.7 หมื่นลบ. "ญี่ปุ่น" แชมป์ Q1/68 "EEC" เนื้อหอม โกย 2.4 หมื่นลบ.

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในไตรมาสแรกของปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.68) จำนวน 272 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 67 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 205 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 47,033 ล้านบาท
โดยการอนุญาตฯ ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 94 ราย (53%) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,131 ล้านบาท (31%) อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ญี่ปุ่น 57 ราย คิดเป็น 21% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,915 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
2. สหรัฐอเมริกา 35 ราย คิดเป็น 13% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต
3. จีน 34 ราย คิดเป็น 12% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone) ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
4. สิงคโปร์ 31 ราย คิดเป็น 11% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,950 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ตลอดจนการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปฏิบัติการของงานระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูล สำหรับโครงการรถไฟฟ้า ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการ Data Center และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
5. ฮ่องกง 22 ราย คิดเป็น 8% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ธุรกิจบริการ Data Center และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
Q1/68 ต่างชาติลงทุนใน EEC รวม 88 ราย มูลค่า 2.4 หมื่นลบ. นางอรมน กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติในไตรมาสแรกของปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.68) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 88 ราย คิดเป็น 32% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 จำนวน 32 ราย (57%) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 24,234 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของเงินลงทุนทั้งหมด
โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 27 ราย ลงทุน 9,295 ล้านบาท จีน 22 ราย ลงทุน 3,685 ล้านบาท สิงคโปร์ 9 ราย ลงทุน 2,194 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 30 ราย ลงทุน 9,060 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าแม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์ ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยง แก้วเก็บความร้อน เป็นต้น