รีเซต

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระเบิดเวลาที่กำลังเดินหน้า อาจนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระเบิดเวลาที่กำลังเดินหน้า อาจนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2568 ( 11:30 )
5

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกากำลังเผชิญกับภาวะละลายอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในระดับที่ "หายนะ" แม้ว่าจะสามารถควบคุมอุณหภูมิโลกให้อยู่ภายในเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสได้ก็ตาม


งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth and Environment ระบุว่า แม้ในสถานการณ์ที่ดีที่สุดซึ่งโลกสามารถจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ระดับปัจจุบันที่ประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส น้ำแข็งขั้วโลกก็อาจละลายอย่างรวดเร็วและส่งผลให้ระดับน้ำทะเลพุ่งสูงในระดับที่เปลี่ยนแปลงชายฝั่งทั่วโลกอย่างรุนแรง


ข้อมูลจากดาวเทียม โมเดลภูมิอากาศ และหลักฐานทางธรณีวิทยา เช่น แกนน้ำแข็งและตะกอนใต้ทะเลลึก บ่งชี้ตรงกันว่า ธารน้ำแข็งของโลกกำลังเข้าสู่ภาวะละลายถาวร หากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเร่งด่วน ซึ่งน้ำแข็งจากกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกามีปริมาณเพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 65 เมตร (213 ฟุต) ซึ่งแม้จะเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำแข็งที่สูญเสียไปจากทั้งสองขั้วโลกเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า โดยปัจจุบันละลายเฉลี่ยปีละ 370,000 ล้านตัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา


จากการศึกษาพบว่า หากยังคงอ้างอิงจากแนวโน้มในปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 1 เซนติเมตรต่อปีภายในสิ้นศตวรรษนี้ หรือราว 1 เมตรภายใน 100 ปี ซึ่งเพียงพอจะทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของประชากรโลกหลายร้อยล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำใกล้ชายฝั่ง


ดร.โจนาธาน แบมเบอร์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอลชี้ว่า สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ การที่จุดพลิกผัน (tipping points) ของการละลายธารน้ำแข็ง อาจอยู่ในระดับอุณหภูมิที่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้มาก จากเดิมที่เคยคิดว่าอุณหภูมิต้องสูงถึง 3 องศาเซลเซียสถึงจะส่งผลร้ายแรง ปัจจุบันพบว่าเพียง 1.5 องศาเซลเซียสก็อาจเพียงพอแล้วที่จะเร่งให้เกิดการละลายถาวร

"แม้เราจะบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศา ก็ยังไม่สามารถชะลอระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราคาดหวังได้ตอนนี้ คือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในลักษณะที่ช้าและต่อเนื่องเท่านั้น" ศาสตราจารย์คริส สโตคส์ จากมหาวิทยาลัยเดอแรม หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยกล่าว พร้อมย้ำว่า โลกไม่ควรละทิ้งความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิ เพราะทุก ๆ เศษส่วนขององศาที่ลดลง จะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบ


งานวิจัยนี้เป็นสัญญาณเตือนที่หนักแน่นว่า เราอาจกำลังเดินหน้าสู่จุดเปลี่ยนทางสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีวันย้อนกลับได้อีก และถึงเวลาแล้วที่โลกต้องลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเด็ดขาด ก่อนที่ชายฝั่งหลายแห่งจะกลายเป็นทะเลในอีกไม่กี่ชั่วอายุคน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง