รีเซต

คิดเห็นแชร์ : ตลาดหุ้นในยุคดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องล้น

คิดเห็นแชร์ : ตลาดหุ้นในยุคดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องล้น
มติชน
20 มิถุนายน 2563 ( 12:02 )
119

 

ตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกหลังจากที่เผชิญแรงขายอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม 2563 จาก “วิกฤตโควิด-19” ได้ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาเช่นกัน สวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกที่ยังถูกกดดันจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ใน 2Q63 ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวแบบเต็มไตรมาส และผลกระทบดังกล่าวอาจลากยาวไปถึงช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 เหตุใดภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นจึงสวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้? ผมประเมินสาเหตุหลักๆ ได้ดังนี้

 

1.ราคาหุ้นที่ปรับลงในช่วงวิกฤตหลายตัวต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสมในระยะยาว แต่เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้นในปี 2563 และแนวโน้มเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปี 2564 ได้ ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินอัตราการเติบโตของ GDP ปี 2563 จะติดลบ -8.4% และฟื้นตัวเป็นบวก +6.8% ได้ในปี 2564 ดังนั้น การประเมินมูลค่าเหมาะสมจากผลการดำเนินงานระยะสั้นเพียงปีเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส อาจทำให้เสียโอกาสในการลงทุนได้ สำหรับประเด็นนี้จึงอยากให้นักลงทุนเลือกพิจารณาการลงทุนในหุ้นที่ภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปนัก และสามารถปรับตัวให้สามารถดำเนินธุรกิจภายหลังจากที่ภาครัฐในแต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่สูงกว่ามูลค่าเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานระยะยาว (อาจค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ)

 

2.การอัดฉีดสภาพคล่องทั่วโลก ทั้งจาก “มาตรการการเงิน” ผ่านทางการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการซื้อพันธบัตรโดยธนาคารกลาง (โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น) และ “มาตรการการคลัง” อาทิ การแจกเงิน, การช่วยเหลือผู้ประกอบการ และมาตรการภาษี เป็นต้น ทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น สำหรับประเด็นนี้ผมจะขอเน้นการวิเคราะห์ไปที่ผลของนโยบายการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) ที่มีต่อตลาดหุ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนั้นมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในหลายมิติ อาทิ 2.1) อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง มีผลต่อความสามารถในการทำกำไรโดยตรงของผู้ประกอบการ เนื่องจาก ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง 2.2) อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงมีผลต่อการประเมินมูลค่าเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากทุกทฤษฎีการประเมินมูลค่าเหมาะสมจำเป็นต้องมี อัตราดอกเบี้ยเป็น 1 ในองค์ประกอบการพิจารณาในฐานะของอัตราคิดลด หรือ Discount rate 2.3) อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ยกตัวอย่างเช่น

 

อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือหุ้นกู้ที่ต่ำลง จะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนไปแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า อย่างเช่น การลงทุนในตลาดหุ้น เป็นต้น สำหรับประเด็นเรื่องผลของสภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงินนี้ จึงอาจให้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลเป็นตัวแทนในการพิจารณา และนักลงทุนมักจะใช้เปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น หรือที่เรียกกันว่า “Earnings yield gap” ซึ่งฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้และออกบทวิเคราะห์เชิงปริมาณสำหรับแนะนำการลงทุน ผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตามอ่านได้ในเว็บไซต์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)

 

เนื่องจากดัชนี SET index ที่ปรับขึ้นแรงในระยะเวลาอันสั้น จึงอาจทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการพักฐานขึ้นได้ อย่างไรก็ดี จากประเด็นต่างๆ ข้างต้น ที่ผมวิเคราะห์ จึงทำให้ประเมินว่ามีโอกาส “ต่ำ” ที่ดัชนี SET index จะพักฐานแรงๆ ลงไปบริเวณใกล้เคียงจุดต่ำสุดในช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤต ซึ่งเป็นผลจากการขายแบบ “Panic sell” ของนักลงทุน ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในครึ่งปีหลังถูกคาดการณ์ว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวและเริ่มชัดเจนในปี 2564 กรณีที่มีการพักฐานของดัชนี SET index จึงเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นเพื่อการลงทุนอีกครั้ง โดยอาจจะเน้นไปที่หุ้นกลุ่มที่ยังมี Upside จากมูลค่าเหมาะสม และแนวโน้มผลการดำเนินงานมีโอกาสที่จะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างเช่น หุ้นกลุ่มโรงกลั่น

 

ทั้งนี้ สำหรับหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลของทางธนาคารแห่งประเทศไทย ผมประเมินว่าเป็นปัจจัยลบระยะสั้นในปีนี้เท่านั้น ขณะที่ Valuation หุ้นปัจจุบันอยู่ในระดับน่าสนใจลงทุน จึงอาจรอจังหวะการพักฐานเป็นโอกาสสะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง