ภาระหนี้ระดับไหน เรียกว่าสุขภาพทางการเงินของเราแข็งแรง
ในสถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งหนี้ครัวเรือนแบ่งออกได้เป็น หนี้บุคคลที่มีหลักประกัน เช่น หนี้เงินกู้ซื้อบ้าน หนี้เช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น และหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เช่น หนี้บัตรเครดิตและหนี้เงินกู้เพื่อการบริโภคอื่น ๆ เป็นต้น
ความจริงแล้ว “หนี้” ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเสมอไป เพราะระบบเศรษฐกิจต่างขับเคลื่อนด้วยหนี้สิน อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้ที่ดีควรสอดคล้องกับระดับรายได้ และพิจารณาให้ละเอียดก่อนก่อหนี้ วันนี้ TrueID ได้นำวิธีการคำนวณภาระหนี้ ว่าทำได้อย่างไร และระดับไหนเรียกว่าปลอดภัย
วิธีการคำนวณภาระหนี้ หรือ อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม (Debt to Income Ratio : DTI)
หนี้รายเดือน/รายได้ต่อเดือน x 100 |
รายได้ในแต่ละเดือน เช่น เงินเดือน ค่าโอที รับจ้างทำงานพิเศษ เงินปันผล เป็นต้น
ภาระหนี้ในแต่ละเดือนที่ต้องจ่าย เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น
วิธีคำนวณ ให้รวมหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือนแล้วหารด้วยรายได้รวมในแต่ละเดือน
สมมติว่าเดือนตุลาคม มีรายรับทั้งหมด 100,000 บาท มีหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 45,000 บาท ผลลัพธ์ คือ 45% (100,000/45,000 x 100) หมายความว่า อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวมเท่ากับ 45%
คือ ทุก ๆ รายได้ 100 บาท จะต้องจ่ายหนี้ 45 บาท
ถ้าอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวมเท่ากับ 36% หรือต่ำกว่า แสดงว่ามีสุขภาพทางการเงินแข็งแรงมาก มีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี และถ้าต้องการกู้ยืมเพิ่มก็มีโอกาสที่จะขอสินเชื่อผ่านได้ง่าย
37 - 42% ถือว่าฐานะทางการเงินยังอยู่ในขั้นที่ดี มีความสามารถในการจ่ายหนี้แต่ละเดือนได้ตามปกติ แต่ถ้าลดหนี้ลงไปได้ก็ควรลด
43 - 49% ถ้ามีหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนระดับนี้ แสดงว่ากำลังมีปัญหาเรื่องหนี้สิน หมายความว่า กำลังเริ่มก่อหนี้เกินตัว จึงควรลดหนี้ที่ไม่จำเป็นลงให้เร็วที่สุด เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม
50% ขึ้นไป ถ้ามีหนี้ระดับนี้ถือว่าอยู่ในขั้นอันตราย หมายความว่าหาเงินมาเท่าไหร่ ครึ่งหนึ่งต้องนำไปจ่ายหนี้ ต้องรีบแก้ไขด่วนด้วยการหยุดก่อหนี้ใหม่ และพยายามปลดหนี้เก่าให้หมดเร็วที่สุด
โดยปกติผู้ที่มีอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวมในระดับต่ำมักจะสามารถจัดการการชำระหนี้ในแต่ละเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ให้บริการสินเชื่อทางการเงิน เช่น ธนาคาร ต้องการเห็นอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ เพราะสะท้อนให้เห็นว่าผู้กู้มีศักยภาพในการชำระหนี้ หรืออย่างน้อย ๆ ผู้ขอกู้จะได้รับการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น
ข้อมูล SCB
ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay
- ปรับโครงสร้างหนี้ ทางรอดของลูกหนี้
- ขอปรับโครงสร้างหนี้ แบบไหน ที่เหมาะกับเรา
- เป็นหนี้ เขียนจดหมายถึงเจ้าหนี้อย่างไร ให้ยอมช่วยปรับโครงสร้างหนี้
- ลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ไหว...ทำอย่างไร? มาดูวิธี 'ปรับโครงสร้างหนี้' สู้โควิดกัน