รีเซต

อนาคตใหม่ของวงการแฟชั่น ? นักวิจัยพัฒนาเนื้อผ้ายืดหดได้ตามอุณหภูมิ

อนาคตใหม่ของวงการแฟชั่น ? นักวิจัยพัฒนาเนื้อผ้ายืดหดได้ตามอุณหภูมิ
TNN ช่อง16
31 ตุลาคม 2566 ( 15:30 )
101

นี่อาจจะเป็นอนาคตใหม่ของวงการแฟชั่น เมื่อนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ที่ชื่อ ไฟบ์โรโบ (FibeRobo) เป็นเส้นใยที่สามารถยืดหดได้ตามอุณหภูมิร้อนหรือเย็น


ไฟบ์โรโบ มีส่วนผสมของวัสดุพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นที่เรียกกันว่า อีลาสโตเมอร์ผลึกเหลว (Liquid crystal elastomer : LCE) ซึ่งอนุภาคของมันจะมีคุณสมบัติเป็นคริสทอลเหลว อนุภาคเหล่านี้จะเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ได้ แต่เมื่อวางอยู่กับที่ อนุภาคจะเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งนักวิจัยก็ได้รวมอีลาสโตเมอร์ผลึกเหลวเข้ากับวัสดุที่ยืดได้ เช่น ยางยืด เพื่อสร้างเส้ยโยไฟบ์โรโบขึ้นมา 


เมื่อเส้นใยสัมผัสกับความร้อน ไม่ว่าจะจากร่างกายหรือปัจจัยภายนอก มันจะหดตัว อนุภาคของผลึกจะเริ่มเคลื่อนที่เหมือนอนุภาคของของเหลว และจะดึงโครงข่ายอีลาสโตเมอร์เข้าด้วยกันจนทำให้เส้นใยหดตัว และเมื่อมันสัมผัสอุณหภูมิต่ำหรือความเย็น มันก็จะขยายตัวออก ที่สำคัญคือเส้นใยนี้มีความปลอดภัยต่อผิวหนัง และสามารถนำไปใช้กับเครื่องจักรทอผ้าต่าง ๆ ได้ จึงสามารถทอเป็นเสื้อผ้าใส่ได้ตามปกติ


ทีมนักวิจัยได้นำเส้นใยที่ได้ไปสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ อย่างแรกคือสร้างเสื้อแจ็คเก็ตสำหรับสุนัข ที่สำคัญ เสื้อตัวนี้สามารถควบคุมการยืดหดได้ผ่านบลูทูธ เป้าหมายคือเพื่อคลายความวิตกกังวลให้น้องหมาเมื่อเจ้าของไม่อยู่ เป็นเสมือนการกอดนั่นเอง อีกผลิตภัณฑ์ต้นแบบคือสปอร์ตบรา สำหรับใส่ออกกำลังกาย เมื่อร่างกายร้อนขึ้น บราที่ว่าก็จะกระชับเข้ามา



สำหรับวิธีการทำเส้นใยไฟบ์โรโบ นักวิจัยจะให้ความร้อนแก่อีลาสโตเมอร์ผลึกเหลวเพื่อให้มันเปลี่ยนสภาพหนืดขึ้น และนำไปรวมเข้ากับวัสดุที่ยืดได้ เช่น ยางยืด จากนั้นเอาส่วนผสมที่ได้ใส่เข้าไปในเครื่องทำเส้นใยที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีลักษณะเป็นหัวฉีดคล้ายปืนกาว จากนั้นฉีดออกมาให้เป็นเส้น ขั้นตอนต่อไปคือการฉายแสงยูวีเพื่อให้เส้นใยแข็งตัว ซึ่งถือว่าขั้นตอนนี้ยุ่งยากพอสมควร เพราะหากแสงยูวีที่ใช้ไม่ถูกต้อง เส้นใยก็จะไม่สมบูรณ์ หลังจากนั้นจะจุ่มเส้นใยลงในน้ำมันเพื่อเคลือบ และการฉายแสงยูวีอีกครั้งเพื่อให้เส้นใยแข็งแรง สุดท้ายคือการนำเส้นใบที่ได้ไปถัดทอให้เป็นชุด 


ไฟบ์โรโบสามารถหดตัวได้สูงถึง 40% โดยไม่ทำให้เส้นใยเสียรูป ส่วนรุ่นที่ปลอดภัยต่อผิวหนังมนุษย์จะหดได้ประมาณ 25% ที่สำคัญยังเป็นวัสดุที่มีราคาถูกมาก เพราะราคาตกที่เมตรละประมาณ 20 เซ็นต์ หรือ 7.22 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่าวัสดุที่คล้ายคลึงกันในตลาดประมาณ 60 เท่า ในปัจจุบันทีมวิจัยสามารถผลิตเส้นใยไฟบ์โรโบได้ยาวประมาณ 1 กิโลเมตรต่อวัน


ไม่แน่ว่าในวันข้างหน้า เสื้อผ้าชิ้นเดียวกัน อาจสามารถปรับเปลี่ยนได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ นับว่าเป็นอีกหนึ่งวัสดุทางเลือกที่น่าสนใจ และอาจจะมาเปลี่ยนเกมโลกแฟชั่นในอนาคต



ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, NewAtlas, MIT

ที่มารูปภาพ MIT

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง