Fund Fact Sheet คืออะไร อ่านยังไง?
สำหรับนักลงทุนกองทุนรวมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีผลตอบแทนค่อนข้างดี ใครที่กำลังเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม ก็คงจะมีข้อสงสัยคล้ายๆกัน ว่าเราจะมีวิธีเลือกลงทุนในกองทุนรวมยังไงดี? จะรู้ได้ยังไงว่ากองทุนอันไหนดี เหมาะสมกับตัวเราหรือไม่ ควรซื้อรึเปล่าโดยก่อนการลงทุนเราต้องศึกษาเอกสารตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า Fund Fact Sheet ซึ่งเป็นเอกสารที่นักลงทุนควรจะอ่านและทำความเข้าใจ เพราะมีผลต่อการเลือกกองทุนมากๆ
Fund Fact Sheet คืออะไร?
Fund Fact Sheet (ภาษาไทยเรียกว่า หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ) คือเอกสารสำคัญอย่างนึงที่บริษัทจัดการลงทุนจัดทำขึ้น เพื่อให้ข้อมูลสำคัญหลักๆแก่นักลงทุน
โดย Fund Fact Sheet จะอธิบายสรุปสาระสำคัญด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายเพื่อให้นักลงทุนรายย่อยทั่วๆไปใช้พิจารณาตัดสินใจในการลงทุน
จริงๆแล้วก่อนที่จะออกมาเป็น Fund Fact Sheet จะมีเอกสารฉบับเต็มที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการลงทุนนั้นๆ เรียกว่าหนังสือชี้ชวน(Prospectus)
ในหนังสือชี้ชวนจะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างของการลงทุนนั้นๆโดยละเอียด โดยถูกออกแบบมาให้ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมนั้นๆได้แทบทั้งหมด
แต่ด้วยความที่ในหนังสือชี้ชวน มีข้อมูลเขียนไว้อยู่เป็นจำนวณมาก มีรายละเอียดทุกอย่างอยู่ในนั้น จนอาจจะทำให้นักลงทุนรายย่อยทั่วๆไปเกิดอาการงงและไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ อ่านแล้วไม่เข้าใจ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสรุปข้อมูลหลักๆที่สำคัญเกี่ยวกับกองทุนกองนั้นๆมาให้ทำความเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น เลยมีชื่อว่าหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ(Fund Fact Sheet)
Fund Fact Sheet เป็นการสรุปข้อมูลสำคัญๆจากหนังสือชี้ชวน(Prospectus)ซึ่งอาจจะมีความหนาถึงประมาณ 30 หน้า ให้ลดลงมาเหลือไม่กี่หน้า
ซึ่งข้อมูลที่สรุปย่อมาให้ใน Fund Fact Sheet ก็จะเป็นการคัดข้อมูลเน้นๆเอาเฉพาะที่สำคัญที่นักลงทุนจำเป็นต้องรู้ เพื่อทำการตัดสินใจว่าจะซื้อกองทุนนั้นๆหรือไม่
โดย Fund Fact Sheet จะรวบรวมข้อมูลนำมาจัดทำในรูปแบบที่อ่านเข้าใจง่าย สำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วๆไป
กองทุนรวมทุกๆกองจะมีเอกสารแบบนี้ให้อ่านก่อนตัดสินใจลงทุนครับ ซึ่งนักลงทุนก็ควรจะศึกษาทำความเข้าใจให้ดี
ไม่ว่าคุณกำลังสนใจซื้อกองทุนรวมลดหย่อนภาษีอย่าง RMF,SSF หรือกองทุนรวมชนิดอื่นๆ การอ่าน Fund Fact Sheet จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีอ่าน Fund Fact Sheet ยังไงให้เข้าใจ?
หลังจากที่เราทำความรู้จักเอกสารชี้ชวน Fund Fact Sheet อย่างละเอียดแล้วว่า มีข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับอะไร อยู่ในหัวข้อไหนบ้าง ก็ถึงเวลาสรุปกันละครับว่าจะอ่านยังไงให้เข้าใจง่ายๆ กระชับได้ใจความ
- ดูวันที่ของข้อมูล
- เช็ควันที่อัพเดทข้อมูลว่าเป็นปัจจุบันมั้ย
- ดูชื่อกองทุนรวม
- ดูชื่อเต็ม,ชื่อย่อ ว่าใช่กองทุนที่เราสนใจรึเปล่า
- ดูคำเตือนใต้ชื่อ
- ดูว่าเรากำลังจะลงทุนอะไร
- เป็นกองทุนประเภทอะไร
- กองทุนนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินประเภทไหน
- มีวิธีการบริหารจัดการกองทุนอย่างไร Active หรือ Passive
- ความเหมาะสมในการลงทุน(กองทุนนี้เหมาะกับใคร)
- ระยะเวลาเหมาะสมในการลงทุนของกองทุนนั้นๆว่าเหมาะกับเรามั้ย
- ดูระดับความเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยงว่าเราสามารถรับได้หรือไม่
- ดูว่ากองทุนนี้ไม่เหมาะกับใคร
- อะไรที่เราต้องระวังบ้าง
- คำเตือนและเงื่อนไขต่างๆของกองทุน เช่น การซื้อ/ขาย RMF,SSF เพื่อลดหย่อนภาษี
- ระดับความเสี่ยงของกองทุน เทียบกับที่เราทำแบบประเมิณว่ารับได้หรือไม่
- ความเสี่ยงหลักๆของทรัพย์สินที่ลงทุน เช่น Credit Rating,ความผันผวนของราคาหน่วยลงทุน
- สัดส่วนของทรัพย์สินที่กองทุนนำเงินไปลงทุน
- ตรวจดูว่ากองทุนนำเงินไปลงทุนอะไร เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ตรงกับนโยบายการลงทุนมั้ย
- ทรัพย์สิน 5 อันดับแรกที่กองทุนลงทุน ตรงกับธุรกิจที่เราต้องการมั้ย
- ดูค่าธรรมเนียมของกองทุน
- ดูว่าค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน คิดเป็นกี่%ต่อปีของNAV
- ดูว่าค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักลงทุน คิดเป็นกี่%ของราคาหน่วยลงทุน
- นำทั้ง 2 ตัว(1,2) มาเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆในประเภทเดียวกัน
- ดูผลตอบแทนย้อนหลัง
- วิเคราะห์ผลตอบแทนย้อนหลังแบบปักหมุด
- ผลงานกองทุนเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัดแล้วเป็นยังไงบ้าง
- ผลงานกองทุนสามารถชนะดัชนีมาตรฐานได้หรือไม่
- กองทุนนี้ชนะหรือแพ้ดัชนีมาตรฐานในสภาวะตลาดแบบไหนบ้าง
- ช่วงเวลาที่กองทุนชนะตลาด มีความสม่ำเสมอขนาดไหน(สม่ำเสมอมาก=ดี)
- เทียบความผันผวนของกองทุนvsดัชนีชี้วัดในช่วงเวลาเดียวกัน(ผันผวนน้อย=ดี)
- วิเคราะห์ผลตอบแทนย้อนหลังแบบ Percentile
- กองทุนที่อยู่ในอันดับ Percentile น้อยๆ=ดี
- เลือกกองทุนที่ผลตอบแทนสูง(อันดับ Percentile น้อย)
- เลือกกองทุนที่มีความผันผวนน้อย(อันดับ Percentile น้อย)
- วิเคราะห์ผลตอบแทนย้อนหลังตามปีปฏิทิน
- ดูว่ากองทุนนั้นมีผลงานอย่างไรเทียบกับเหตุการณ์ต่างๆในแต่ละปี
- ถ้าปีไหนมีวิกฤติแต่ยังทำผลงานได้ดี กองทุนนี้น่าสนใจ
- เมื่อผ่านพ้นวิกฤติ ถ้าผลงานยังดีต่อเนื่อง ยิ่งน่าสนใจ
- ดูผลการขาดทุนสูงสุดในช่วง 5 ปี ว่ารับได้หรือไม่
- ถ้ารับได้ก็ซื้อได้เลย
- ถ้ารับไม่ได้แต่ยังอยากซื้อ ก็อาจพิจารณากระจายการลงทุนไปกองทุนอื่นๆด้วย
- วิเคราะห์ผลตอบแทนย้อนหลังแบบปักหมุด
ถ้านักลงทุนได้ทำความเข้าใจกับรายละเอียดของหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป(Fund Fact Sheet) ตามข้อมูลแต่ละส่วนที่เขียนมาด้านบน ก็น่าช่วยให้เข้าใจวิธีการอ่าน Fund Fact Sheet เพื่อพิจารณาเลือกซื้อกองทุนได้ดียิ่งขึ้น
รูปภาพโดย ฟอร์ม PxHere